รองผู้ว่าฯ วิศณุ ลงพื้นที่คลองลาดพร้าว ติดตามงานระบายน้ำเส้นเลือดหลัก

กทม.เร่งขับเคลื่อนติดตามความคืบหน้าโครงการประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว ตอนคลองหลุมไผ่ และตรวจสถานีระบายน้ำคลองหลุมไผ่ เผยคลองลาดพร้าวถือเป็นคลองเส้นเลือดหลัก จะช่วยบริหารจัดการน้ำในกรณีที่ฝนตกในพื้นที่เขตลาดพร้าวโซนล่าง สามารถพร่องน้ำโซนนี้ได้เร็วขึ้น

21 ส.ค. 67/  นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว ตอนคลองหลุมไผ่ และตรวจสถานีระบายน้ำคลองหลุมไผ่ สำหรับการสร้างประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว ตอนคลองหลุมไผ่ เพื่อบริหารจัดการน้ำ โดยเมื่อปิดประตูระบายน้ำจะแบ่งน้ำโซนบนไปเข้าคลองบางเขน ระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยรับน้ำในโซนกรุงเทพเหนือ และแบ่งน้ำโซนล่างไปยังคลองบางซื่อ

รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวว่า คลองลาดพร้าวถือเป็นคลองเส้นเลือดหลัก ซึ่งเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมบริเวณโชคชัย 4 เพราะคลองลาดพร้าวน้ำขึ้นสูง การมีประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว ตอนคลองหลุมไผ่ จะช่วยบริหารจัดการน้ำในกรณีที่ฝนตกในพื้นที่เขตลาดพร้าวโซนล่าง สามารถพร่องน้ำโซนนี้ได้เร็วขึ้น

รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวต่อไปว่า กทม. ไม่ได้ทำแค่เส้นเลือดฝอย เส้นเลือดใหญ่ก็ทำ เมื่อคลองเส้นเลือดฝอยระบายน้ำลงคลองสายหลักได้ดีแล้ว คลองสายหลักก็ต้องระบายน้ำได้ดีด้วย โดยตอนนี้ที่อาคารรับน้ำคลองเปรมประชากรมีโครงการทำ Shaft (ปล่อง) ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ในอนาคตหากโครงการนี้เสร็จ ประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าวก็จะช่วยแบ่งเบาภาระ Shaft ที่คลองเปรมประชากรได้เช่นกัน คาดว่าประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว ตอนคลองหลุมไผ่ จะเปิดใช้งานได้ภายในเดือนกันยายนนี้

“ช่วงนี้ฝนตกไม่แน่นอน และหนักมากเป็นบางแห่ง แผนการรับมือและการระบายน้ำต้องยืดหยุ่น สามารถแบ่งรับซ้ายขวาบนล่าง ได้ตามสถานการณ์และปริมาณฝน และได้สั่งการถอดบทเรียนคืนวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา ในจุดต่าง ๆ ที่น้ำท่วม ซึ่งฝนที่ตกหนักปริมาณ 130 มม. ในคืนนั้นถือว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้ได้ทดสอบระบบ เพื่อเตรียมรับมือในครั้งต่อไปได้ดีขึ้น” รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าว

จากนั้น ลงพื้นที่สถานีสูบน้ำคลองหลุมไผ่ ตอนคลองลาดพร้าว ซึ่งคลองหลุมไผ่เป็นคลองสำคัญในการรับน้ำบริเวณลาดปลาเค้า รามอินทรา โดยสถานีสูบน้ำแห่งนี้สามารถระบายน้ำได้ 17 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในการควบคุมน้ำบริเวณนี้ลงสู่คลองลาดพร้าว แต่ปัญหาคือมีขยะจำนวนมากเข้าไปติดตะแกรงดักขยะหน้าเครื่องสูบน้ำ ทำให้ระดับน้ำที่เข้าไปเลี้ยงเครื่องสูบน้ำไม่พอในการเดินเครื่อง ทำให้เครื่อง Overload และไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ตอนนี้จึงต้องใช้แรงงานคนมาเฝ้าตักเก็บขยะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำได้เท่าที่กำลังจะมี และบางครั้งในการเก็บขยะต้องหยุดเครื่องสูบน้ำชั่วคราวอีกด้วย ตอนนี้จึงได้ของบประมาณเพื่อทำที่ดักเก็บขยะอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งขยะเพื่อให้การระบายน้ำทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน