เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 ตุลาคม 2566 นายชาญชัย คงทัน รอง ผวจ.หนองคาย เป็นประธานเปิดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการประตูระบายน้ำบ้านเมืองบาง ตำบลวัดธาตุ อำเภอเมือง จ.หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาแผนพัฒนาแหล่งน้ำลำน้ำสวย จ.หนองคายและจ.อุดรธานี โดยมี นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนเข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมนาคารา 1 โรงแรมรอยัลนาคาราและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์หนองคาย อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย
รอง ผวจ.หนองคาย กล่าวว่า ลำน้ำสวย มีความยาว นับจากอำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี ไปถึงบ้านปากสวย อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย กว่า 152 กิโลเมตร ทุกปีในช่วงฤดูแล้งมักเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่วนช่วงฤดูฝนเกิดปัญหาอุทกภัย สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำสวย ช่วงที่น้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขง ในปี 2561 กรมชลประทาน ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติโครงการศึกษาแผนพัฒนาแหล่งน้ำลำน้ำสวย จ.หนองคายและจ.อุดรธานี เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบการจัดการพัฒนาลุ่มน้ำสวย
ซึ่งโครงการประตูระบายน้ำบ้านเมืองบาง จ.หนองคาย ถือเป็น 1 ใน 41 โครงการ การจัดประชุมปัจฉิมนิเทศในครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอข้อชี้แนะ เพื่อนำปรับปรุงแก้ไขการออกแบบโครงการให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สามารถขับเคลื่อนต่อไปและสำเร็จเป็นรูปธรรม สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่ จ.หนองคายและจ.อุดรธานี ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า เมื่อปี 2561 นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจราชการและประชุมนอกสถานที่ ในจ.เพชรบูรณ์ ทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ร่วมกันเสนอโครงการบรรเทาภัยแล้งและน้ำท่วมของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จำนวน 12 โครงการ และหนึ่งในนั้นมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำสวย จ.หนองคาย และจ.อุดรธานี ที่เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และทำเกษตร
ต่อมา คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทานดำเนินการโดยจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อให้ได้แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสวย จ.หนองคายและจ.อุดรธานี 2) เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำสวย จ.หนองคายและจ.อุดรธานี รวมถึงพื้นที่ข้างเคียง 3) เพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านการเกษตร การอุปโภคบริโภค และการใช้น้ำด้านต่าง ๆ 4) เพื่อเตรียมความพร้อมด้านปริมาณน้ำต้นทุนของพื้นที่เพื่อรองรับการเติบโต และการพัฒนาของ จ.หนองคายและจ.อุดรธานี 5) เพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการตามลำดับความสำคัญอันดับแรก
สำหรับการจัดทำแผนหลัก (Master Plan) ของโครงการที่อยู่ในขอบเขตลุ่มน้ำสวยครอบคลุม 9 ตำบลใน 3 อำเภอของ จ.อุดรธานี และ 14 ตำบลใน 3 อำเภอ ของจ.หนองคาย โดยต้นน้ำของลำน้ำสวยอยู่บริเวณตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี และไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บริเวณบ้านปากสวย อำเภอโพนพิสัย จ.หนองคาย มีความยาวลำน้ำประมาณ 152 กิโลเมตร
ทั้งนี้ แผนหลักที่จะสอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-พ.ศ.2580) ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงการจากโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบันและโครงการที่เสนอแนะเพื่อพัฒนาเพิ่มเติม ได้แก่ โครงการประเภทก่อสร้างฝาย 8 โครงการ การเพิ่มประสิทธิภาพ แก้มลิง/อ่างเก็บน้ำ/หนองน้ำ 15 โครงการ ขุดลอก 1 โครงการ ก่อสร้างประตูระบายน้ำ 2 โครงการ ปรับปรุงแก้มลิง 9 โครงการ ก่อสร้างแก้มลิง 1 โครงการ ก่อสร้างแนวผันน้ำ 2 โครงการ ก่อสร้างพนังกันน้ำ 1 โครงการ และก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 2 โครงการ รวมทั้งสิ้น 41 โครงการ งบประมาณ 5,882 ล้านบาท
ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ชลประทานและพื้นที่บรรเทาอุทกภัยเพิ่มขึ้น โดยการพัฒนาวางแผนไว้เป็นระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2566-พ.ศ. 2585 หลังจากคัดเลือกจาก 41 โครงการและการจัดลำดับความสำคัญเรียบร้อยแล้วพบว่า โครงการที่มีความเหมาะสมมากที่สุด คือ โครงการประตูระบายน้ำบ้านเมืองบาง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 บ้านเมืองบาง ตำบลวัดธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย จากนั้นได้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานวางโครงการ (Pre-Feasibility Report) เพื่อออกแบบรายละเอียดให้สอดคล้องกับพื้นที่จริง
จากการศึกษาออกแบบพบว่า เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและมีพื้นที่บรรเทาอุทกภัยเพิ่มขึ้น โดยโครงการประตูระบายน้ำบ้านเมืองบางอยู่ในแผนงานระยะสั้น ดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 ใช้งบประมาณ 298 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันพบว่าพื้นที่ลุ่มสวยมีความจุเก็บกักเพียง 32.85 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทานรวมถึงพื้นที่รับประโยชน์รวมกัน เท่ากับ 74,063 ไร่ และมีพื้นที่ในการบรรเทาอุทกภัย 85,000 ไร่ หากพัฒนาโครงการตามแผนที่กำหนดไว้ จะทำให้มีความจุเก็บกักน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสวยเพิ่มขึ้นอีก 28.62 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 28,281 ไร่ พื้นที่บรรเทาอุทกภัยเพิ่มขึ้น 65,964 ไร่
อย่างไรก็ตาม กรมชลฯ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นให้ประชาชนมีส่วนร่วม และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการอย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินการโครงการประตูระบายน้ำบ้านเมืองบางเป็นลำดับแรก จาก 41 โครงการ ตามแผนหลักในการพัฒนาแหล่งน้ำลำน้ำสวย ส่วนอีก 40 โครงการ ที่เหลือก็จะได้รับการพัฒนาตามลำดับความสำคัญและตามแผนการดำเนินงานในแต่ละระยะต่อไป
ด้านนายปราโมทย์ สุขสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวัดธาตุ กล่าวแสดงความมั่นใจว่าประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการประตูระบายน้ำบ้านเมืองบางทั้งในฤดูแล้งและฤดูน้ำหลาก นอกจากจะช่วยชะลอน้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่ลุ่มแล้ว การมีประตูระบายน้ำยังช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเพาะปลูกพืชในช่วงหน้าแล้ง แม้ว่าพื้นที่เพาะปลูกจะไม่เพิ่มขึ้น แต่การมีน้ำอุดมสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มผลผลิตทางเกษตรต่อไร่ให้สูงขึ้นสามารถทำนาปีและนาปรังได้ตลอดทั้งปี มีพื้นที่รับประโยชน์ 6,974 ไร่ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้มีความอยู่ดีกิน มีฐานะที่มั่นคงยิ่งขึ้น