48 ปี การเคหะฯ เปิดบ้านเช่าพร้อมอาชีพเพื่อคนจน

การเคหะแห่งชาติทางพิษโควิด-19 เปิดรูปแบบการบริหารแนวใหม่ พร้อมสร้างอาชีพให้กับผู้อาศัยผุดโครงการเป็น “บ้านเช่าพร้อมอาชีพ” สนองนโยบายรัฐบาลเพื่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัย

 1เม.ย.64/ การเคหะแห่งชาติสถาปนาครบรอบ 48 ปี ในปี 2564 พร้อมกับพัฒนาการใหม่ๆใหม่ทั้งทิศทาง รูปแบบ เครื่องมือบริหารจัดการ ขณะเดียวกัน ผลพวงจากพิษโควิด-19 ทำให้การเคหะแห่งชาติต้องปรับรูปแบบด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยหลากหลายรูปแบบ เน้นรูปแบบการเช่าเพื่อรองรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคาที่รับภาระได้ตามนโยบายของรัฐบาล

นายทวีพงษ์  วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า โครงการบ้านเคหะสุขประชาเป็นนวัตกรรมใหม่ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทเช่า พร้อมทั้งสร้างอาชีพให้กับผู้อาศัยในโครงการ เป็น “บ้านเช่าพร้อมอาชีพ” ด้วยการสร้างเศรษฐกิจชุมชนคู่ขนานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการเคหะแห่งชาติจะเตรียมอาชีพให้ผู้เช่าได้ทำมาหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ซึ่งผู้เช่าจะได้รับการอบรมโครงการสุขประชา(Sukpracha Academy) เพื่อรับทราบระเบียบการเข้าอยู่อาศัย รวมถึงอาชีพที่จะต้องทำในชุมชน

นอกเหนือจากโซนที่พักอาศัยแล้ว ภายในโครงการยังจัดให้มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่สันทนาการ พื้นที่จอดรถ และพื้นที่ “เศรษฐกิจสุขประชา” ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่แต่ละโครงการ มี 6 รูปแบบ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ อาชีพบริการชุมชนและชุมชนข้างเคียง ตลาด  อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และศูนย์การค้าปลีก – ส่ง โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยประกอบอาชีพในโครงการ รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนตามภูมิสังคมของพื้นที่  เริ่มตั้งแต่การผลิตไปจนถึงช่องทางการจัดจำหน่าย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ในลักษณะบูรณาการทุกภาคส่วนเป็นห่วงโซ่ (Value Chain) แบบครบวงจร ถือเป็นหน่วยการผลิตที่สร้างความเข้มแข็งในตัวและช่วยหมุนเศรษฐกิจชุมชนไปด้วย ทั้งในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล และต่างจังหวัด เพื่อลดผลกระทบจากพิษโควิด -19 และภาวะเศรษฐกิจ

“บ้านเคหะสุขประชา สามารถตอบโจทย์ผู้เช่าที่อยู่อาศัยในยุค New Normal อีกทั้งยังเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของการเคหะแห่งชาติที่จะเข้ามามีบทบาทช่วยผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัย รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำในสังคมตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์”นายทวีพงษ์  กล่าว

รวมถึงยังมีเครื่องมือทางการเงินที่การเคหะแห่งชาติเริ่มนำมาใช้อย่างจริงจัง ตั้งแต่พันธบัตรเพื่อสังคม Social Bond จนถึงพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน Sustainability Bond เพื่อระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้นำมารีไฟแนนซ์เพื่อลดต้นทุนทางการเงินขององค์กร ช่วยให้สถานการณ์ทางการเงินเข้มแข็งขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อที่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย รองรับผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคาร สามารถเช่าซื้อโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ โดยเข้าร่วมโครงการดังกล่าวและยื่นขอสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ที่สำคัญ การเคหะแห่งชาติยังมีทรัพย์สินในรูปที่ดินเปล่า รวมทั้งทรัพย์สินอาคารที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Sunk Cost) สามารถนำมาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย สร้างมูลค่าเพิ่มและนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกเป็นจำนวนมาก“โครงการบ้านเคหะสุขประชา” ถือเป็นคำตอบว่าด้วยเรื่องบ้านแนวราบน่าอยู่ หรือหากเป็นโครงการแนวสูง การเคหะแห่งชาติจะปรับรูปแบบจากไม่มีลิฟต์ก็ออกแบบให้มีลิฟต์ภายในอาคาร พร้อมทั้งปรับปรุงงานก่อสร้างให้แข็งแรงไม่ต้องซ่อมเหมือนที่ผ่านมา

48 ปีของการเคหะแห่งชาติ จึงเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ขับเคลื่อนอย่างมีชีวิตชีวา โดยมีเป้าหมายความสำเร็จ คือ ประชาชนมีที่อยู่อาศัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน