“พรรคเสมอภาค” ชู “พ.ร.บ.พระพุทธศาสนาแห่งชาติ” สร้างความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

องค์การศาสนาพุทธโลกจัดเสวนาเรื่อง”การเมืองกับความมั่นคงของพระพุทธศาสนา” เผยพรรคเสมอภาคเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ระบุ การเมืองมีส่วนสำคัญต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ชูร่างพระราชบัญญัติพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้น ตามแนวนโยบายแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 หวังทุกศาสนาอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างผาสุข

31ต.ค.65 / การเสวนาเรื่อง”การเมืองกับความมั่นคงของพระพุทธศาสนา​” จัดโดยองค์การศาสนาพุทธโลก ณ อาคาร AEC​ International บางกะปิ กทม.เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565 นางรฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ หัวหน้าพรรคเสมอภาคกล่าวว่า การเมืองมีส่วนสำคัญมากต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา เนื่องจากอำนาจการเมืองการปกครองสูงสุดของประชาชนก็คือ

1.อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ควบคุมการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร ควบคุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ

2.อำนาจฝ่ายบริหารที่ทำหน้าที่ กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ดังนั้นการเมืองจึงมีบทบาทสำคัญมากต่อการออกกฎหมายใหม่แก้ไขกฎหมายเก่า รวมทั้งกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมสนับสนุน คุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคงยั่งยืน นำหลักธรรมขอลพระพุทธศาสนามาเป็นรากฐานในการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ รวมทั้งต้องสร้างความรักความสามัคคีของชาวไทยที่นับถือทุกศาสนาให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสงบสุข

นอกจากนี้ นักการเมืองและผู้บริหารพรรคการเมือง ที่มีศีลธรรม มีคุณธรรมจริยธรรม ตามหลักธรรมและคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ได้อย่างมีคุณภาพมีคุณธรรม มีสัจจะวาจา มีปิยะวาจา มีความซื่อสัตย์สุจริต ละอายและเกรงกลัวต่อการทำบาป เป็นนักการเมืองใจซื่อมือสะอาด เป็นนักการเมืองด้วยจิตอาสาเสียสละ ประชาชนก็จะอยู่ดีมีสุขถ้วนหน้า ซึ่งพรรคเสมอภาคให้ความสำคัญต่อการนำหลักคำสอนในพระพุทธศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อพัฒนาจิตใจและสติปัญญา เพื่อให้คนไทยทุกเพศทุกวัย เป็นคนเก่งเป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นพลเมืองดี เป็นกำลังสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศ จึงได้แปลงนโยบายเป็น “กฎหมายพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมนำเสนอให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม และเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ดำเนินการให้ประกาศเป็นกฎหมายต่อไป

ด้าน นายพนพภณฎษ์ ทองคำ ประธานฝ่ายกฎหมายและเรื่องราวร้องทุกข์พรรคเสมอภาค กล่าวว่า การเมืองกับความมั่นคงของพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับประเทศไทยที่มีผู้นับถือพระพุทธศาสนามากถึง 93.83% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ  แต่ความมั่นคงของพระพุทธศาสนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนามากหรือน้อยเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการเมืองโดยตรงด้วย เพราะการเมืองเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศที่จะบันดาลอะไรให้เกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นได้

ตัวอย่างเช่น ประเทศอินเดีย ศรีลังกา จีน และอินโดนีเซีย ซึ่งประชากรของประเทศเหล่านี้นับถือพระพุทธศาสนามาก่อนแต่พอช่วงระยะเวลาหนึ่งอำนาจทางการเมืองก็ทำให้พระพุทธศาสนาของประเทศเหล่านี้หมดไป แต่บางประเทศก็ยังมีการฟื้นกลับคืนมา เพราะหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเองที่ยังมีผู้ศรัทธาอยู่ อย่างเช่น ประเทศ ศรีลังกา จีน และอินเดียที่กำลังมีผู้ศรัทธามากขึ้นเป็นลำดับ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเมืองคืออำนาจสูงสุดที่จะบันดาลให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่หรือไม่ให้ดำรงอยู่

ขณะเดียวกัน การเมืองกับความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยก็คงไม่ต่างกัน ถ้าจะให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคงดำรงอยู่ในประเทศไทยได้มั่นคง ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการนี้ คือ การเมือง กับ ตัวของประชาชนที่นับถือพระพุทธศาสนาเองเท่านั้น ที่จะต้องคิดและทำ 6 ข้อให้ได้ คือ

1.มีความเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

2.มีความศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

3.มีความรักที่จะนำคำสอนของพระพุทธเจ้าไปยึดถือปฏิบัติตามอย่างแท้จริง

4.มีความพยายามที่จะเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแก่สาธุชนให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญาอย่างจริงจัง

5.มีความพยายามที่จะป้องกันและคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนามิให้ถูกบ่อนทำลายไม่ว่ารูปแบบใดๆ อย่างจริงจัง และ

6.มีความพยายามที่จะส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอุปถัมภ์ และ​คุ้มครอง​ป้องกันการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ในทางการเมืองและในฐานะที่เป็นประธานด้านกฎหมายและเรื่องราวร้องทุกข์ของพรรคเสมอภาค และท่านรฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ หัวหน้าพรรคเสมอภาค จึงเห็นพ้องต้องกันว่าเพื่อให้เกิดความมั่นคงของพระพุทธศานาในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง จะต้องออกเป็นกฎหมายขึ้นมาเพื่อเป็นกรอบตามรัฐธรรมนูญกำหนด ผมจึงได้ร่างพระราชบัญญัติพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้น ตามแนวนโยบายแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 ที่บัญญัติให้รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น  ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน

ทั้งนี้ รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.พระพุทธศาสนาแห่งชาติดังกล่าว จึงว่าด้วยเรื่องการอุปถัมถ์และคุ้มครองพระ​พุทธศาสนา​จะทำอย่างไร การให้การศึกษาและการนำหลักธรรมของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไปเผยแผ่จะทำอย่างไร การป้องกันการบ่อนทำลายจะทำอย่างไร และการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจะทำอย่างไร เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธจะให้การสนับสนุนและร่วมผลักดันให้กฎหมายพระพุทธศาสนาแห่งชาติฉบับนี้ได้พิจารณาในสภาฯและประกาศใช้โดยเร็ว

ทางด้าน ศ.ดร.ฐาปนา บุญหล้า กล่าวว่าสำหรับประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข​ ประชาชนกว่าร้อยละ94 นับถือพระพุทธศาสนา​ ยามใดที่มีนำและรัฐมนตรีมีธรรมะ​บ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุข​ แต่ยามใดที่ผู้นำและรัฐมนตรีขาดธรรมะบ้านเมืองก็ระส่ำระสายทั่วประเทศ​ดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติไทย พระพุธทาสเคยกล่าวไว้ว่า”ระบอบประชาธิปไตยที่ขาดธรรมะจะเป็นระบอบที่เลวร้ายที่สุด”

ด้วยเหตุนี้คุณสมบัติและคุณภาพของนักการเมืองที่มีธรรมะเหนือกว่าประชาชนทั่วไป​ จึงมีนัยสำคัญควบคู่ไปกับระบอบประชาธิปไตยแบบไทย​เรา​ เมื่อมีคนดีมีคุณสมบัติดีจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาสังคมในการปกครองบ้านเมืองเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของมวลมหาชนได้ในที่สุด คุณสมบัติของนักการเมืองอย่างน้อยควรมีธรรมะในพรหมวิหาร4(เมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา)​เป็นพื้นฐาน ยึดหลักธรรมะของสังคหวัตถุ 4​(ทาน, ปิยะวาจา, อัตถจริยา, สมานัตตตา)​มุ่งสร้างความรู้รักสามัคคีทุกหมู่เหล่า มุ่งปฏิธรรมเป็นวาระแห่งชาติ​ ด้วยการละชั่ว​ ทำดี​ ทำจิตให้ผ่องใส​ ในชีวิตประจำวันของปวงชนชาวไทย ที่สำคัญนักการเมืองต้องเป็นพลเมืองดีเป็นตัวอย่างเสียสละ​ ด้วยการมาทำการเมืองเป็นอาสาสมัคร​ ไม่ใช่มาทำมาหากินบนการเมือง

หยกดำ ส่องเขียว รายงาน