ประธานสภาเอสเอ็มอีเสนอ กมธ. ศึกษามาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชงแยกมาตรการช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนตามระดับศักยภาพ ศึกษาเรื่อง CFF สำหรับรายย่อย ชูโมเดล SMEs Smart Province ทางรอดของ SMEs สร้างความเข้มแข็งจากระดับจังหวัด บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนด้วย KPI เดียวโดยมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน
18 ธันวาคม 2562 : นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) เข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ณ ห้องประชุม 406 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา เกียกกาย เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบการพิจารณา “ศึกษามาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชุมชน” โดยมีท่านไชยา พรหมมา เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งในการประชุมดังกล่าวได้เชิญผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เข้าให้ข้อมูลร่วมด้วย
นายไชยวัฒน์ เปิดเผยว่านำเสนอใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ข้อมูล SMEs 2) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ตามระดับศักยภาพ และ 3) การบูรณาการพัฒนา SMEs โดยมีรายละเอียดในแต่ละประเด็น ดังนี้
1) ข้อมูล SMEs นายไชยวัฒน์ให้ข้อมูลว่าสภาเอสเอ็มอีก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2557 ในนามภาคีเครือข่ายก่อตั้งสภาเอสเอ็มอี ปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายที่เป็นสมาคม ชมรม คลัสเตอร์ธุรกิจ กว่า 90 องค์ (ไม่นับรวมที่เป็นบริษัท ห้าง ร้าน และวิสาหกิจชุมชน) ขณะที่ SMEs ในประเทศไทยมีประมาณ 3 ล้านราย มีการจ้างงานประมาณเกือบ 14 ล้านคน หรือคิดเป็น 85% ของการจ้างานทั้งหมด ซึ่งจากจำนวน 3 ล้านรายนั้นอยู่ในระบบธนาคารเพียงประมาณ 468,000 ราย และเป็นนิติบุคคลเพียง 130,000 ราย เท่านั้น นอกนั้นเป็นบุคคลธรรมดา
สภาเอสเอ็มอีแบ่งระดับศักยภาพของ SMEs ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. Ready to Go 2. Struggle และ 3. Survival ซึ่งเรียงตัวจากบนลงล่างในรูปทรงเจดีย์ ซึ่งพบว่า กลุ่มแรก (Ready to Go) นั้นมีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ 2 และ 3 โดยเฉพาะกลุ่มที่ 3 ที่ยากจะเข้าสู่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยระบบธนาคารปกติ
2) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs นายไชยวัฒน์ นำเสนอข้อมูลจาก SMEs Roundtable ครั้งที่ 2 เรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ที่มีภาคีเครือข่ายภาคเอกชนเข้าร่วม 55 องค์กร และมีหน่วยงานรัฐเข้าร่วมสังเกตการณ์ จำนวน 8 หน่วยงาน ซึ่งมีข้อเสนอที่เหมาะกับแต่ละศักยภาพข้างต้น ดังนี้
สำหรับกลุ่มที่อยู่ในระบบธนาคาร และกลุ่มที่มีความพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบธนาคาร
1.เสนอให้ธนาคารพิจารณาหลักเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อสำหรับ SMEs เพิ่มเติม นอกเหนือจากการพิจารณาหลักทรัพย์และงบดุลด้วย 3 ปัจจัยนี้ ได้แก่ 1) สินค้าหรือบริการมีอนาคตหรือไม่ โดยดูจากแนวโน้มและโอกาสของธุรกิจ (Business Trend / Business Opportunity) 2) ความสามารถของกิจการและผู้ประกอบการ 3) ความตั้งใจของผู้ประกอบการ
2.เสนอให้ธนาคารชี้แจงเหตุผลในการพิจารณาไม่อนุมัติสินเชื่อให้ชัดเจนในทุกกรณี เพื่อให้ SMEs นำไปปรับปรุงกิจการให้สอดคล้องกับเกณฑ์การพิจารณาของธนาคาร โดยออกเป็นนโยบายการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย 3.เสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มการคุ้มครองวงเงินที่ค้ำประกันเป็น ร้อยละ 75 และผู้ประกอบการ SMEs มีสิทธิที่จะร้องขอให้ บสย. เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อโดยสามารถใช้บริการ บสย. ได้อย่างทั่วถึง 4.เสนอให้ทุกธนาคารพิจารณาประวัติการชำระหนี้ของ SMEs โดยดูย้อนหลัง 12 เดือน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นสำหรับผู้ที่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้แต่ ณ ปัจจุบันเป็นบัญชีปกติแล้ว
5.เสนอให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐควรที่จะกำหนดโครงการการปล่อยสินเชื่อแบบพิเศษที่มีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนสำหรับ SMEs ที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของคนตัวเล็ก 6.เสนอให้มีมาตรการคุ้มครองการประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกันให้เป็นสมบัติของผู้ว่าจ้างประเมิน และสามารถนำไปใช้ได้กับทุกธนาคาร โดยกำหนดระยะเวลาที่สามารถใช้เอกสารที่ประเมินแล้วตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 7.เสนอให้มีการทบทวนเรื่องการนำระบบบัญชีเดียวมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อในปี 2562 เพื่อมีช่วงเวลาให้ SMEs ปรับตัว แก้ไขส่วนที่ยังผิดพลาดอยู่ และจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง โดยเลื่อนไปเป็นปี 2565
สำหรับกลุ่มที่ยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ระบบธนาคาร แต่มีศักยภาพในอนาคต 8.เสนอให้มีการยกระดับมาตรฐาน SMEs ให้มีความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างมีคุณภาพ โดยธนาคารร่วมมือกับสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) ในรูปแบบ SMEs Clinic จัดอบรม แนะนำ และคัดกรอง SMEs ให้เตรียมพร้อมก่อนยื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร
สำหรับกลุ่มที่ยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ระบบ 9.เสนอให้มี Center of Financial Facility (CFF) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง สามารถดำเนินการปล่อยสินเชื่อได้ผ่านองค์กรภาคีเครือข่าย ประสานงานและคัดกรองโดยสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จังหวัด (สภาเอสเอ็มอีจังหวัด)
3) การบูรณาการพัฒนา SMEs คุณไชยวัฒน์ นำเสนอแนวทางการบูรณาการพัฒนา SMEs ในระดับจังหวัดด้วยโมเดล SMEs Smart Province เพื่อแก้ไขปัญหาหลักของ SMEs 3 ด้าน ได้แก่ ด้านองค์ความรู้ ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และด้านการตลาด ตลอดจนการสะท้อนปัญหาและความต้องการของ SMEs (Voice of SMEs) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการดำเนินการเพื่อให้ทุกๆ หน่วยงานในจังหวัดมี KPI ในการพัฒนา SMEs ร่วมกัน และพัฒนาครบถ้วนในทุกมิติ
“ทั้งนี้ เนื่องจากสภาเอสเอ็มอียังไม่มีพระราชบัญญัติสภาเอสเอ็มอี ซึ่งกำลังผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงขอให้ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรรมาธิการนี้ช่วยสนับสนุนในที่ประชุมรัฐสภาด้วย” นายไชยวัฒน์ กล่าว
WC รายงาน