ตรึงแนวแผงค้าหน้าตลาดบางกะปิ จับตาฝุ่นจิ๋วเดอะลิฟวิ่นรามคำแหง ชูแอมเวย์ต้นแบบคัดแยกขยะ ปั้นสวนริมทาง@บางกะปิ ท้ายซอยกรุงเทพกรีฑา 9 ส่องพื้นที่รกร้างลักลอบทิ้งขยะลาดพร้าว 107 แยก 13
30 ส.ค. 67 / นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางกะปิ ประกอบด้วย ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าตลาดบางกะปิ ซึ่งเป็นจุดที่เขตฯ ดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าใหม่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้า ปี 67 ที่ผ่านมา เขตฯ ได้เชิญผู้ค้ามาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า กำชับไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเกินแนวเส้นที่กำหนด หากผู้ค้าสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย จะพิจารณาผลักดันให้เป็นจุดผ่อนผันต่อไป
ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 14 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 407 ราย ได้แก่
1.ซอยลาดพร้าว 121 ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 24.00-10.00 น.
2.ซอยลาดพร้าว 101 ผู้ค้า 66 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น.
3.ซอยลาดพร้าว 107 ผู้ค้า 42 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-24.00 น.
4.ซอยลาดพร้าว 109 ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น.
5.ซอยนวมินทร์ 8-10 ผู้ค้า 67 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น.
6.ซอยโยธินพัฒนา ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น.
7.ซอยรามคำแหง 18-22 ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-22.00 น.
8.ซอยรามคำแหง 34-36 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-21.00 น.
9.ซอยรามคำแหง 39-53 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น.
10.ซอยรามคำแหง 52/2 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 04.00-23.00 น.
11.ซอยรามคำแหง 53-65 ผู้ค้า 35 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-24.00 น.
12.ซอยรามคำแหง 64/2 ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.30-22.00 น.
13.ซอยหัวหมาก 9-39 ผู้ค้า 32 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น.
14.ซอยหัวหมาก 10-34 ผู้ค้า 35 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-24.00 น.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เขตฯ ได้ดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้า 26 ราย ได้แก่
1.ถนนแฮปปี้แลนด์สาย 1 ผู้ค้า 6 ราย
2.ซอยโพธิ์แก้ว ผู้ค้า 9 ราย
3.ท่าเรือวัดกลาง ผู้ค้า 4 ราย และ
4.ซอยรามคำแหง 105/1 ผู้ค้า 7 ราย
ต่อมาในปี 2567 เขตฯ ได้ดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้าเพิ่มเติมอีก 2 จุด รวมผู้ค้า 53 ราย ได้แก่
1.บริเวณถนนแฮปปี้แลนด์ สาย 2 ผู้ค้า 41 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567
2.บริเวณแยกลำสาลี ถนนศรีนครินทร์ขาออก ผู้ค้า 12 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง พิจารณาหาแนวทางยกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ หรือจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการเดอะลิฟวิ่น รามคำแหง ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 42 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เช่น จัดทำรั้วโดยรอบในระดับความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณทางเข้า-ออกโครงการและพื้นที่โดยรอบในช่วงเวลาทำงาน ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกตามรอบที่กำหนด ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด พื้นที่ 174,416 ตารางเมตร บุคลากร 532 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้
1.ขยะอินทรีย์ ตั้งวางถังขยะสำหรับทิ้งขยะเศษอาหารภายในบริเวณห้องอาหารของพนักงาน และ Amway Café คัดแยกนำไปไว้ที่ห้องขยะด้านหลังอาคารสำนักงาน เพื่อรอเขตฯ จัดเก็บ
2.ขยะรีไซเคิล ตั้งวางถังขยะรีไซเคิลตามจุดต่าง ๆ ทั้งอาคารสำนักงานและอาคารพลาซ่า มีตู้รับคืนบรรจุภัณฑ์พลาสติกแอมเวย์ เพื่อนำไปรีไซเคิล
3.ขยะทั่วไป ตั้งวางถังขยะทั่วไปตามจุดต่าง ๆ ทั้งอาคารสำนักงานและอาคารพลาซ่า คัดแยกนำไปไว้ที่ห้องขยะด้านหลังอาคารสำนักงาน เพื่อรอเขตฯ จัดเก็บ
4.ขยะอันตราย ตั้งจัดวางถังขยะอันตรายตามจุดต่าง ๆ คัดแยกนำไปไว้ที่ห้องขยะ เพื่อรอเขตฯ จัดเก็บไปกำจัด สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 2,700 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 695 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางบริษัทฯ ในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บไปกำจัด ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่
พัฒนาสวน 15 นาที สวนริมทาง@บางกะปิ บริเวณท้ายซอยกรุงเทพกรีฑา 9 ซึ่งเขตฯ ดำเนินการปูหญ้า ปลูกไม้พุ่ม จัดทำม้านั่ง ทางเดินโรยกรวด ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่
1.สวนสาธารณะสวนพฤกษชาติคลองจั่น พื้นที่ 34 ไร่
2.สวนหย่อมพระราม 9 (แยกรามคำแหง) พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวา
3.สวนหย่อมศรีบูรพา (แปลงปันสุข) พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 14 ตารางวา
4.สวนหย่อมริมคลองแสนแสบ พื้นที่ 1 งาน 37 ตารางวา
5.ลานบางกะปิภิรมย์ พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา
6.สวนปิยะภิรมย์ พื้นที่ 12 ไร่ (อยู่ในความดูแลของสำนักสิ่งแวดล้อม) สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่
1.สวนป่า (วงในทางต่างระดับถนนศรีนครินทร์-ถนนกรุงเทพกรีฑา) พื้นที่ 4 ไร่ 42 ตารางวา
2.สวนหย่อมแปลงสามเหลี่ยม (หน้าร้านสินธร สเต็กเฮ้าส์) พื้นที่ 3 งาน 98 ตารางวา
3.สวนหย่อมโพธิ์แก้ว พื้นที่ 1 งาน 95 ตารางวา
4.สวนหย่อมแฟลตการเคหะที่ 1 พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา
5.สวนริมทาง@บางกะปิ ท้ายซอยกรุงเทพกรีฑา 9 พื้นที่ 2 งาน 50 ตารางวา
6.สวนหย่อมหมู่บ้านสินธร พื้นที่ 1 ไร่ 7 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่งตามเป้าหมาย พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับและเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
ตรวจสอบพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณซอยลาดพร้าว 107 แยก 13 ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ออกหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดิน ให้ดำเนินการล้อมรั้วโดยรอบ และจัดเก็บขยะเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้เขตฯ ได้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ห้ามทิ้งขยะ สำรวจการใช้ประโยชน์จากที่ดิน หากไม่มีการใช้ประโยชน์หรือปล่อยไว้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้จัดเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ป้องกันการลักลอบนำเศษวัสดุจากสิ่งปลูกสร้างหรือขยะชิ้นใหญ่มาทิ้งในจุดอื่น ๆ ในการนี้มี นายชูชาติ พุ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตบางกะปิ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกะปิ สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน