กัญชา : พืชมหัศจรรย์โลก (ตอนที่ 2)

วิถีสุขภาพ

โดย…พินิจ จันทร

วันพุธที่ 29 กันยายน 2564

 องค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชา “ยาไทยโบราณ”

จากข้อมูลสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ระบุว่า แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์  เป็นตำราแพทย์แผนไทยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นตำราแพทย์ฉบับหลวงที่เกิดจากพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ทั้งนี้ โดยพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ตำแหน่งจางวางแพทย์ คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอมฤตย์ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 เป็นประธานในการชำระความถูกต้องและสงเคราะห์พระคัมภีร์แพทย์แผนไทยทั้งมวลขึ้นเป็น “ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง” ในปี พ.ศ. 2413 อันเป็นปีที่ 3 ที่ทรงครองราชย์ ซึ่งแสดงว่าทรงให้ความสำคัญกับปัญหาความเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชน ไม่น้อยไปกว่าปัญหาความมั่นคงของประเทศด้านอื่นๆ

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า พระคัมภีร์ทุกคัมภีร์ ตำรับยาทุกตำรับในตำรา “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์” จึงเป็นภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของชาติที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้


“กัญชา” เป็นพืชสมุนไพรตัวหนึ่งใน “พระคัมภีร์สรรพคุณแลมหาพิกัด” ที่ระบุสรรพคุณของ “กัญชา” ไว้ว่า “กัญชา แก้ไข้ผอมเหลืองหากำลังมิได้ ให้ตัวสั่น เสียงสั่น เป็นด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนมิหลับ”

———————————–

ทั้งนี้ ไม่มีข้อความใดใน “ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์” ที่ระบุว่า “กัญชา” เป็นสมุนไพรมีพิษหรือมีโทษร้ายแรงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามมี “กัญชา” ปรากฏอยู่ในตำรับยาอย่างน้อย 10 ตำรับ อาทิ เช่น

พระคัมภีร์ปฐมจินดา

ซึ่งเป็นตำรากุมารเวชศาสตร์ของการแพทย์แผนไทย มียาเข้ากัญชา 1 ตำรับ คือ ยาไฟอาวุธ ซึ่งใช้รักษาโรคตานทรางอย่างเดียวกับที่เกิดขึ้นกับลูกของอีเย็นนางทาส ซึ่งมีอาการเป็นไข้หละละอองลิ้นขาว เป็นตุ่มเม็ดในปากคอและตามร่างกายของทารกและเด็กเล็ก แก้โรคไอผอมเหลือง หืดหอบ โรคพุงโรก้นปอด แก้ไข้อุจจาระเป็นโลหิตจุกเสียดแน่นท้อง ปรุงเป็นยาผงทำเป็นเม็ดเท่าเม็ดพริกไทยละลายกับน้ำมะนาวเป็นกระสายยา

พระคัมภีร์มหาโชตรัต

 ซึ่งเป็นตำรานรีเวชศาสตร์ของการแพทย์แผนไทยมียาเข้ากัญชา 3 ตำรับ คือ

1) ยาแก้ลมอุทธังคมาวาตะ คือ ลมตีขึ้นบนในสตรี เกิดลมจับหัวใจให้ชักมือกำเท้ากำ ลิ้นกระด้างคางแข็ง ลมตีขึ้นปะทะอกหายใจไม่ออก ราวจะสิ้นใจ เป็นยาผงละลายน้ำผึ้งกิน

2) ยาแก้ริดสีดวงมหากาฬ 4 จำพวก เป็นยารักษาฝีหนองที่ขึ้นในลำคอ ในทวารหนัก ในทวารเบา และในลำไส้ตลอดถึงหลอดอาหาร รวมทั้งก้อนฝีหนองในอก คุดทะราด ฝีเปื่อยทั้งตัว และกามโรค ยาขนานนี้นอกจากเข้ากัญชาแล้วยังผสมฝิ่นเล็กน้อย บดผงปั้นเท่าเม็ดพริกไทย ละลายสุรากิน 1-3 เม็ด

3) ยาแก้อาการบิดมวนท้องและท้องเสียในสตรี

พระคัมภีร์ชวดาร

 เป็นตำราว่าด้วยโรคลมและโรคเลือดของทั้งสตรีและบุรุษ มียา 1 ตำรับ คือ ยาแก้โรคสำหรับบุรุษและสตรี ใช้รักษากามโรค ปัสสาวะเป็นโลหิต จับไข้สะบัดร้อนสะท้านหนาว ท้องแข็งเป็นดาน ปวดเมื่อยขบไปทั้งตัว มือเท้าตายเป็นเหน็บ เป็นยาบดผงละลายกับน้ำผึ้ง กินครั้งละ 3.8 กรัม

พระคัมภีร์กษัย

เป็นตำราว่าด้วยความเสื่อมของร่างกายทำให้ผอมแห้งแรงน้อย สุขภาพทรุดโทรม ในพระคัมภีร์นี้มียาเข้ากัญชาถึง 5 ตำรับ คือ

1) ยาแก้กษัยเหล็ก

2) ยาแก้กษัยกล่อน

3) ยาแก้กษัยเสียด

4) ยาพรหมภักตร์

5) ยาอัมฤตย์โอสถ

ยกตัวอย่างยาแก้กษัยเหล็ก ซึ่งกระทำให้ปวดหัวเหน่า ท้องน้อยแข็งเหมือนหินแล้วเป็นก้อนลามไปถึงหน้าอก ทำให้ขยับไหวตัวไปมาไม่ได้ เบื่ออาหาร ปวดท้องมากจนแทบจะขาดใจ ยาขนานนี้หมอโบราณท่านให้เอาใบและดอกกัญชาสดตำแหลกคั้นเอาน้ำ 1 ทะนาน หุงกับน้ำมันงา 1 ทะนาน จนน้ำระเหยออกไปหมดคงเหลือแต่น้ำมัน ใช้สำหรับทารีดท้องให้อ่อนตัวลงเป็นเวลา 3 วัน แล้วจึงกินน้ำมันต่ออีก 3 วัน ท่านว่าวิเศษนัก

ส่วนตำรับยาอัมฤตย์โอสถ เป็นยาตำราหลวงที่ใช้เป็นประจำสำหรับแก้ลมกษัยทั้งปวง ยาขนานนี้มีกัญชาประกอบอยู่ถึง 10 ส่วน

ในที่นี้ขอแนะนำตำรับยาที่ใช้แก้ไข้ผอมแห้งแรงน้อย ช่วยให้กินข้าวได้ นอนหลับสนิทและแก้อาการตัวสั่น ซึ่งประกอบด้วยตัวยา ดังนี้ …

ตรีกฏุก (ขิงแห้ง ดีปลี และพริกไทย) จันทน์ทั้ง 2 (จันทน์แดง จันทน์ขาว) ใบสะเดา ใบคนทีเขมา พริกไทยล่อน อย่างละเท่าๆ กัน และใช้ใบกัญชาน้ำหนักเท่ากับตัวยาทั้งหลายรวมกัน

ทั้งหมดบดผงปั้นเท่าเม็ดพริกไทย ใช้ครั้งละ 1 เม็ด ละลายน้ำมะพร้าวกินหายแล

จากการสำรวจการใช้ “กัญชา” ในตำราการแพทย์แผนไทยของหลวงซึ่งได้ผ่านการชำระรับรองความถูกต้องมาแล้ว ที่สำคัญเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคมายาวนานแล้ว จึงสมควรที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้นักวิจัยทางแพทย์เภสัชทำการวิจัยเรื่องกัญชาในตำรับยาไทย เพื่อไม่ให้ตกกระแส เพราะเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปีมาแล้ว

(ตอนต่อไป : กัญชาสามรถฆ่าเซลล์มะเร็งได้อย่างไร)