พระเทพปฏิภาณกวี ให้ธรรมะดีรับปีกระต่าย แนะ “ยั้งใจให้เป็น ใจเย็นเข้าไว้”

ปัจจุบันสิ่งล่อตาล่อใจต่างๆ มีไม่น้อย การยับยั้งชั่งใจให้ได้นั้นเป็นคุณต่อชีวิต ผู้ใดที่ใช้ชีวิตโดยขาดความยับยั้งชั่งใจไม่เป็น ใจเย็นไม่ได้ มักจะเกิดภัยพิบัติในชีวิตอย่างคาดไม่ถึง พระเทพปฏิภาณกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารกรุงเทพฯ ได้เมตตามาชี้แนะ บนเวทีธรรมบรรยาย เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” จัดโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชนผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ในหัวข้อ ยั้งใจให้เป็น ใจเย็นเข้าไว้

หลวงพ่อได้เกริ่นนำถึงผู้สนใจในการฟังธรรมทุกท่าน ผู้ใดก็ตามที่ให้เวลากับพระมาแสดงธรรม ผู้นั้นได้ทำกุศลอันยิ่งใหญ่ การให้ธรรมมะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าสำคัญกว่าการให้สิ่งต่างๆ ตามคำกล่าวที่ว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรมะ ย่อมชนะการให้ทั้งปวง

ปัจจุบันวัตถุสิ่งของเกิดขึ้นมากมายจนตามไม่ทัน อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ มีมากมายหลายชนิดจนจำแทบไม่ได้ ในสมัยที่พระท่านยังเป็นเด็กของใช้ในครัวมีไม่มาก กระทะ ใบ หม้อ ใบก็สามารถทำกับข้าวเลี้ยงคนในบ้านเลี้ยงลูกหลานตั้งแต่เด็กจนโต สื่อโฆษณาสมัยนี้แม้แต่หม้อหุ้งข้าวก็มีให้เลือกหลากหลายล่อตาล่อใจให้คนอยากซื้อ ข้าวของต่างๆมีมากมาย การให้ข้าวของจึงกลายเป็นเรื่องง่าย แต่ต้องรู้ใจผู้รับด้วยว่าเขาต้องการอะไร แต่การให้ธรรมะเป็นเรื่องยากลำบากมีข้อจำกัดหลายด้าน โอกาสที่จะให้ธรรมะกับประชาชนเป็นหมู่ใหญ่ๆ ก็กลายเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสภาวะวิกฤตโควิด-19 ทำให้ชีวิตประจำวันของคนทั่วไปเปลี่ยนไป ทั้งการประชุมแบบออนไลน์แทนการประชุมแบบเจอหน้า แม้แต่พระเณรเองก็มีวิถีชีวิตเปลี่ยนไปเช่นกัน ไม่ได้เทศนาญาติโยม ไม่มีการทำบุญที่วัด ไม่มีการรวมตัวกัน แต่ประชาชนอย่าพึ่งหมดหวัง เพราะทุกอย่างมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เป็นธรรมดาของโลก เมื่อก่อนก็เคยมีโรคระบาด มีคนเคยเขียนบันทึกไว้ว่าโรคระบาดทำให้ชีวิตหดหู่หมดหวัง แม้กระทั่งผู้คนที่สภาพจิตใจดี สุขภาพดี แต่พอมีความคิดหดหู่สุขภาพก็ทรุดลง เพราะว่าขาดกำลังใจ ส่วนคนที่คิดบวก มองว่าไม่นานก็จะผ่านไป เหมือนพระอาทิตย์ที่มีขึ้นและมีพระอาทิตย์ตก ก็ทำให้บุคคลเหล่านี้มีหวังและกำลังใจ

หากทุกคนได้ฟังธรรมมะ ลองสังเกตจิตใจตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นธรรมะเชิงไหนเรื่องใดก็ตาม จะทำให้จิตใจเกิดความหวัง เกิดพลัง โดยที่เราไม่รู้ตัว สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าธรรมะนั้นเป็นอาหารของจิตใจ เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าสภาพจิตใจเราเป็นยังไง เหนื่อยล้า หมดหวัง หรือฟุ้งซ่าน เร้าร้อน เนื่องจากมีเรื่องกังวลใจ ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ เกิดความกังวลโดยที่เราไม่ทันสังเกต เราต้องอ่านใจตัวเอง โดยการฟังธรรมะ เมื่อฟังแล้วจะมีสติมากขึ้น จะหันกลับมาสังเกตสภาพจิตใจ เมื่อจิตใจดีชีวิตจะอยู่ภายใต้การกำกับของธรรมะ แต่ถ้าเราปล่อยปะละเลยจิตใจก็เหมือนเราปล่อยปะละเลยชีวิต อาจทำให้เกิดภัยใกล้ตัวเนื่องจากขาดสติ เราต้องอ่านใจตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้เรามีสติในการใช้ชีวิต

พระเทพปฏิภาณกวี ได้กล่าวถึงเรื่องการยับยั้งชั่งใจ เพราะการยับยั้งชั่งใจให้ได้นั้นเป็นคุณต่อชีวิต ผู้ใดที่ใช้ชีวิตโดยขาดความยับยั้งชั่งใจไม่เป็น ใจเย็นไม่ได้ มักจะเกิดภัยพิบัติในชีวิตอย่างคาดไม่ถึง ก่อนที่เราจะทำอะไรให้คิดเสมอว่า  กิจที่ทำ กรรมที่ก่อ ข้อที่คิด” ต้องทำความรอบครอบ การยับยั้งชั่งใจจะทำให้เกิดสติ จะมองเห็นสิ่งต่างๆชัดเจนมาก ขึ้นทำให้มองได้รอบด้านและกระจ่างแจ้ง หากเราใช้ชีวิตแบบหุนหันพลันแล่นมักจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

เรื่องเล่าจากพระอาจารย์ เกี่ยวกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ของสำนักแห่งหนึ่ง เด็กหนุ่มคนนี้เป็นคนที่ขี้เกียจ ตื่นสาย แต่ลูกศิษย์ในสำนักนี้มีหน้าที่ในแต่ละวันคือต้องเก็บกิ่งไม้มาก่อไฟ เพื่อใช้ในการหุ้งต้ม วันหนึ่งเด็กคนนี้ตื่นสาย ลูกศิษย์คนอื่นเก็บฟืนหมดแล้ว ถ้าไม่ได้ไปเก็บฟืนมาอาจจะโดนลงโทษ พอรู้สึกตัวขึ้นมาจึงรีบลุกไปหาเศษใบไม้ในป่า ปรากฏว่ารีบก้มลงไปเก็บจนถูกกิ่งไม้แทงลูกตาตาบอด ทั้งหมดนี้เกิดจากความหุนหันพลันแล่น

ท่านว่าการนับลมหายใจเข้าออกเพื่อการดึงสติให้กลับมาอยู่ที่จิตใจของเรา ทำทุกวันทุกเช้า ก็จะได้ความคิดพิจารณา ความมีสติรอบคอบ คนที่ใจร้อนก็รู้สึกเย็น

หลวงพ่อกล่าวว่าการรู้จักยับยั้งชั่งใจ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตมากมาย เริ่มต้นจากการรับประทานอาหารต้องพิจารณาว่าเราเคี้ยวข้าว บดข้าวได้ละเอียดดีมั้ย มีหมอเคยบอกไว้ว่าหากเราเคี้ยวข้าวไม่ละเอียด กระเพาะและลำไส้จะทำงานหนัก ผิวพรรณแย่ลง อายุสั้นลง

การยับยั้งชั่งใจ เป็นคุณสมบัติของผู้ดี ก่อนที่จะทำอะไรให้นึกคิดไตร่ตรองก่อนแล้วค่อยทำหรือค่อยพูด การปฏิบัติแบบนี้จะก่อให้เกิดแต่เรื่องดี มีแต่ได้ไม่มีเสีย คนสมัยนี้ที่เราเห็นเรื่องราวตามโซเชียลมีเดีย ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่นึกถึงผลที่จะตามมา ก่อให้เกิดนิสัยที่ไม่ดี คำพูดที่ไม่น่าฟัง เป็นการก่อกรรม สร้างศัตรู สังคมปัจจุบันน่ากลัว ใช้ชีวิตตามสบายได้ยาก ต้องอยู่ด้วยความรอบคอบหลายๆเรื่อง

ท่านยกย่องว่าการยับยั้งชั่งใจ เป็นนิสัยที่ดี ที่จะส่งผลดีต่อการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ ตั้งแต่ชีวิตในบ้านของเรา การเดินทาง ไปจนถึงการเข้าสังคม ก่อนที่จะพูดกับคนส่วนใหญ่ต้องคิดแล้วว่าพูดแบบนี้ดีมั้ย ทุกวันนี้เรื่องที่ทำให้กระทบกระเทือนใจต่อคนในสังคมนั้นมีมากพอสมควร เราต้องไม่พูดให้สร้างความกระทบกระเทือนเพิ่มขึ้น โบราณจึงบอกว่า อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่ร่วมมิตรก็ให้ระวังปาก อยู่กับคนส่วนมากก็ให้ระวังมารยาท” การระวังความคิดก็ต้องดูว่าความคิดเรานั้นมีไมตรีจิต หรือว่าความคิดเห็นแก่ตัว คิดในทางลบหรือบวกต่อบุคคลอื่น ให้เรานั้นอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ การอ่านใจตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และลองนึกดูมีอะไรที่สำคัญไปกว่าจิตใจของเรา การพัฒนาจิตใจจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของชีวิต ตั้งแต่เกิดมาก็มีการศึกษา การอบรม การเรียนรู้สิ่งต่างๆอย่างไม่มีวันหยุดก็เพื่อใจของเราตัวเดียว

เราต้องการยกระดับจิตใจของเราเพื่อ 1.ให้เรามีความรู้ ความฉลาด 2.ให้ใจของเราสะอาด 3.ให้ใจของเรามีเมตตาปราณี หรือความกรุณาต่อกัน เราต้องการให้จิตใจของเรามีคุณธรรมทั้ง ประการ เราต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆเพราะเราเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ เราต้องเรียนรู้เรื่องราวต่างๆในโลกนี้ เรียนรู้เรื่องวิชาการยังไม่พอต้องต่อด้วยการเรียนรู้เรื่องคุณธรรม หรือจริยธรรม ศีลธรรม บางครั้งอาจจะไม่ได้จากครูอาจารย์แต่ก็ได้จากประสบการณ์ในชีวิต เมื่อเราดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆเราก็จะรู้ด้วยตัวเอง เข้าใจชีวิตมากขึ้น แต่ถ้าพระมาพูดให้ฟังก็จะเกิดความมั่นใจและเกิดความศรัทธา
การทำดีนั้นไม่ง่ายเราต้องฝึกทำอยู่บ่อยๆ เราจึงต้องทำบุญเป็นประจำอยู่บ่อยๆนั้นก็คือ การสวดมนต์และเจริญภาวนา ก่อนเข้านอน หรือตื่นนอนก็ได้ ในทุกๆวันเรามีภารกิจที่ต้องดูใจของตัวเอง ถ้าเราตามดูบ่อยๆ ใจเราจะไม่เกเร ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ในบางวันเราออาจะหาสาเหตุที่จิตใจเราวุ่นวายไม่เจอนั้นเกิดจากการที่เรามีนิวรณ์ครอบงำจิตใจ หรือความพยาบาท ต้องหาทางแก้ไข ไม่อย่างนั้นวันนั้นจะไม่มีความสุข อย่างที่มีคนเคยบอกว่า ปล่อยให้ยุ่ง แล้วแย่ แก้มันยาก ยิ่งยุ่งมาก ก็ยิ่งแย่ แก้ไม่ไหว ปล่อยให้ยุ่ง รุมนัก จะหนักใจ จงแก้ไข อย่าให้ยุ่ง วุ่นนักหนา” เราต้องแก้ไขด้วยการใส่อารมณ์ใหม่เข้าไป ด้วยการแผ่เมตตา การทำอย่างนี้จะเกิดเป็นสมบัติติดตัว พระท่านได้อ่านหนังสือ มองด้านใน อ่านแล้วพัฒนาจิตใจมาก มีถ้อยคำสำนวนพิเศษก่อให้เกิดความประทับใจ จนคิดว่าเมื่อบวชแล้วต้องเจอพระท่านที่เขียนหนังสือให้ได้

พระเทพปฏิภาณกวีได้กล่าวสรุปตอนท้ายว่า ขอให้เราสร้างธรรมะสมบัติในใจเรา 1.รู้จักยับยั้งชั่งใจ 2.ทำใจให้เย็นเข้าไว้ เมื่อทำอย่างนี้อยู่เสมอเมื่อมีเรื่องมากระทบกระเทือนจิตใจ เราก็จะใจเย็นทันที หากเราทำได้แบบนี้ชีวิตของเราก็จะมีความสุข

พบกับกิจกรรมเรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ ได้ทุกวันศุกร์ เวลา 12:00-13:30 ผ่านช่องทาง facebook fanpage CPALL หรือสามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ช่องทางเดียวกัน พร้อมรับฟังคติธรรมดี ๆ ในช่องทาง TikTok ได้ที่ ธรรมะ TikTok