เติมเต็มนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยินเข้ารับทุนการศึกษา

วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล  บูรณาการขับเคลื่อนนโยบาย “อาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศเฉพาะทาง” เผยเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ หวังช่วยเติมเต็มทั้งด้านทุนทรัพย์และกำลังใจให้กับนักเรียนนักศึกษา

5 พ.ย.64 / นางปัทมา วีระวานิช อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  ผู้เชี่ยวชาญการด้านการขับเคลื่อนนโยบายอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellent Center) และที่ปรึกษาโครงการทุนนวัตกรรมสายวิชาชีพชั้นสูง เป็นประธานในกิจกรรมโครงการติดตามผลการดำเนินงานทุนนวัตกรรมสายวิชาชีพชั้นสูง  วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล ปีที่ 2

ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้ร่วมกิจกรรมประกอบด้วย ดร.สาโรจน์  ขอจ่วนเตี๋ยว ผู้ชำนาญการด้านการพัฒนาและความร่วมมือ(กรอ.อศ.) วิชาชีพระยะสั้น และการจัดการ อาชีวศึกษาทวิภาคี  นายผดุงศักดิ์ ศรีนอก นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ ศูนย์พัฒนา ส่งเสริม ประสานงานกิจกรรมนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ  นายภัทรพล มาบันดิษฐ์ นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ ศูนย์พัฒนา ส่งเสริม ประสานงานกิจกรรมนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ

สำหรับคณะผู้วิจัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัยผู้ร่วมกิจกรรมนำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม หัวหน้าโครงการ ฯ และนักวิจัย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรุจ กิจนันทวิวัฒน์ นักวิจัย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุสิดา ทินมาลา นักวิจัย  ดร.วาทินี อมรไพศาลเลิศ นักวิจัย  นายธนวิชญ์ ลิมปวิทยากุล ผู้ช่วยนักวิจัย คุณบุษบากร สุวรรณเกศา ผู้ช่วยนักวิจัย คุณกณิชชา ศิริศักดิ์ ผู้ช่วยนักวิจัย

นางณชนกพรหมพร บุญชูศรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ และติดตามการดำเนินงานโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษของวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล  และมีนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยินได้รับทุนการศึกษาจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาแล้ว 2 รุ่น โดยปีการศึกษา 2563 ได้รับ 20 ทุน ประกอบด้วยนักศึกษาแผนกคอมพิวเตอร์ กราฟฟิกได้รับ 20 ทุน แผนกช่างไฟฟ้ากำลังได้รับ 9 ทุน

ส่วนปีการศึกษา 2564 นี้มีนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยินได้รับทุนการศึกษาจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 17 คน ประกอบด้วย นักศึกษาจากแผนกคอมพิวเตอร์ กราฟฟิก 7 และแผนกช่างไฟฟ้ากำลัง 10 คน

นางณชนกพรหมพร กล่าวว่า วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑลจัดการเรียนการสอนในระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ทวิภาคี 100%  โดยในปีการศึกษา 2564 นี้วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑลมีจำนวนนักเรียนนักศึกษาทั้งหมด 556 คน เป็นนักเรียนนักศึกษาที่เป็นผู้บกพร่องทางการได้ยิน 55 คน  จัดการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างนักเรียนนักศึกษาปกติและนักเรียนนักศึกษาที่มีความต้องการพิเศษ

“สำหรับวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑลแล้ว การได้รับการจัดสรรทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นการช่วยยกระดับความเสมอภาคทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี  เป็นการช่วยเติมเต็มทั้งด้านทุนทรัพย์และกำลังใจให้กับนักเรียนนักศึกษาผู้มีความต้องการพิเศษ  ทางวิทยาลัยจะพยายามดูแลให้ผู้ได้รับทุน  ใช้ทุนให้คุ้มค่ามากที่สุด”นางณชนกพรหมพร กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม กล่าวว่า  จุดมุ่งหมายของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาคือการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกรูปแบบ  โดยเฉพาะปัจจัยทางการศึกษาที่เป็นเงินทุน  สำหรับในสายอาชีวศึกษานั้น  ปีนี้ได้เพิ่มจำนวนสถานศึกษาเป็น 10 วิทยาลัยจากเดิม 5 วิทยาลัย

“เป้าหมายของกองทุนฯคือการให้ผู้เรียน  เรียนจนจบการศึกษาและเมื่อจบมาแล้วต้องมีงานทำ  ในการดำเนินงานของคณะวิจัย  เราได้จัดทำแผนเฉพาะสำหรับผู้รับทุนเป็นรายบุคคลเพื่อติดตามประเมินผลทุกด้าน  รวมทั้งด้านจิตวิทยาของแต่ละท่าน   จะทำให้เราเข้าใจถึงความต้องการของผู้มีความต้องการพิเศษเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการร่วมพัฒนาสังคมในอนาคต” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิศา กล่าว

แสนไชย เค้าภูไทย รายงาน