SMEsหวังให้ภาครัฐใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพทั่วถึง

วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 เวลา 14.00 น. : นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เข้าร่วมการเสวนา “SME จะอยู่รอดอย่างไรหลังโควิด-19” โดยร่วมกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย รองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและแผนงาน และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อสะท้อนปัญหาของ SMEs ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คุณไชยวัฒน์กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ SMEs เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2557 จนปัจจุบัน ซึ่งได้ใช้งบประมาณจำนวนมากในการส่งเสริม SMEs แต่ใน พ.ร.บ.ส่งเสริม SMEs กลับไม่มีนิยาม SMEs ที่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาสภาเอสเอ็มอีผลักดันให้มีพระราชบัญญัติสภาเอสเอ็มอีเพื่อเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการ SMEs ให้เกิดพลังและเป็นตัวแทนสะท้อนปัญหาและความต้องการที่แท้จริงแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ จึงร่วมกับพรรคเพื่อไทยในการยกร่างและนำไปบรรจุเข้าสู่ญัตติของสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ภาครัฐได้นำเม็ดเงินจำนวนมากมาให้ความช่วยเหลือ ซึ่ง SMEs กว่าร้อยละ 90 ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเงื่อนไขปกติได้ จำเป็นที่จะต้องใช้กลไกพิเศษ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
นอกจากนี้ แนวทางการช่วยเหลือ SMEs ไม่ควรที่จะเน้นไปที่เรื่องการเงินเพียงอย่างเดียว ควรที่จะมองถึงเรื่องการตลาดและนวัตกรรมควบคู่ไปด้วยแย่างสอดรับกันทั้งระบบ
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า เอสเอ็มอีคือฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 เอสเอ็มอีกำลังจะตาย ซึ่งถ้าปล่อยให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศล้มลงก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการจ้างงาน ซึ่งเอสเอ็มอีมีการจ้างงานมากที่สุดและมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคทุกจังหวัด ทั้งนี้เราได้มีการผลักดันเรื่องกฎหมายของสภาเอสเอ็มอี ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ก็จะผลักดันให้มีการตั้งคณะทำงานติดตามเรื่องเงินกู้ของรัฐบาล รวมถึงการจะเชิญคณะกรรมาธิการมาร่วมรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการด้วย ซึ่งขอให้สภาเอสเอ็มอีและพี่น้องประชาชนร่วมกันส่งเสียงสะท้อนให้การใช้เงินกู้ให้เกิดประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง ในการนี้ ขอเชิญสภาเอสเอ็มอีส่งผู้แทนมาร่วมเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ คณะที่ดูเรื่องฟื้นฟู 400,000 ล้านบาทด้วย
รศ.ดร.โภคิน พลกุล กล่าวว่าปัญหาสังคมไทยในปัจจุบันเกิดจากอำนาจนิยมหรือรัฐราชการ จำเป็นที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้สังคมก้าวข้ามผ่านสถานการณ์เหล่านี้ไปได้ โดยสิ่งแรกที่อยากเสนอคือ ต้องมีกติกาใหม่ที่เป็นธรรม คือรัฐธรรมนูญที่เป็นโรดแมปหรือทิศทางที่เราจะเดินไปร่วมกัน มีการจัดทำร่างกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เพื่อจัดการธุรกิจขนาดเล็กให้รวมตัวกันได้ โดยการสร้างมาตรฐานให้ดูแลกันเองได้ และสามารถสะท้อนเสียงความต้องการของตนไปถึงรัฐบาล
ทั้งนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้สภาเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมเสวนาได้แก่ นายชนพงษ์ รุ่งกิจวัฒนกุล รองประธานอาวุโส สะท้อนปัญหาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม นายฉลองศักดิ์ อารีย์วงศ์ สะท้อนปัญหาของธุรกิจโลจิสติกส์ นายสุปรีย์ ทองเพชร รองประธานและนายกสมาคมการค้าวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ไทย สะท้อนปัญหาของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และธุรกิจดิจิทัล นายอรุณัฐ ปุณยกนก รองประธานและเลขาธิการ เสนอโครงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ นายสุจินต์ พิทักษ์ ประธานสภาเอสเอ็มอีจังหวัดสมัครสาคร ให้กำลัง SMEs ก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกันกับสภาเอสเอ็มอี นายสุชาติ อำนาจวิภาวี ที่ปรึกษาสภาเอสเอ็มอีและประธานชมรมนักธุรกิจโชคดี สะท้อนปัญหาของอุตสาหกรรมสนับสนุน (ทำเครื่องจักร) ว่าต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และแสวงหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และนายวรวุฒิ ชิระนุรังสี ผู้จัดการสภาเอสเอ็มอี ให้ข้อมูลว่านอกจากเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับ SMEs แล้ว ยังมีโครงการ SMEs Smart Province ที่เป็นโครงการบูรณาการ SMEs ทั้งระบบในระดับจังหวัดที่สภาเอสเอ็มอีพัฒนาขึ้นมา
ติดตามรับชมได้ที่
WC รายงาน
 
#ThaiSMEsCouncil #สภาเอสเอ็มอี
#SMEsSmartProvince #PostCOVID19
#SMEs #เอสเอ็มอี
Advertisement