พระพุทธการุญ หน้าตัก 9.9 เมตรแห่งสำนักสงฆ์ดอยภูซางบ้านนาฝา ตำบลกองควาย อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
ชาวบ้านตำบลกองควาย ร่วมสร้างบุญบารมี สมโภชน์พระพุทธการุญหน้าตัก 9.99 เมตร แห่งสำนักสงฆ์ดอยภูซาง จว.น่าน เผยชาวบ้านรวมจิตอุปสมบทหมู่เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป
เสียงไก่ขันกังวาลลั่นทั่วดอยภูซาง ไอหมอกกระทบยอดไม้เห็นเป็นเงาสั่นไหว ย่ำรุ่งของวันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2562 เริ่มขึ้นแล้ว
เสียงบทสวดภาษาบาลีจากพระอาจารย์สมยศ ฐานธัมโม เจ้าสำนักสงฆ์ดอยภูซาง กำลังจัดพิธีอุปสมบทหมู่ โดยมีชาวบ้านนาฝาตำบลกองควาย อำเภอเมือง จังหวัดน่านผู้มีกุศลกรรมเข้าอุปสมบทเพื่อเป็นพุทธบูชาและสมโภชน์ พระพุทธการุญ ขนาดหน้าตัก 9.99 เมตร ประดิษฐ์ฐานบนดอยภูซาง ดอยแห่งการปฏิบัติธรรมเพื่อสู่นิพพานในอนาคต
ยามเช้าวันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ดอยภูซางถูกปกคลุมด้วยไปด้วยทะเลหมอกอ่อนๆกำลังลอยล่องหายไปทีละนิดๆด้วยพระบารมีแสงแห่งธรรมจากพระสงฆ์บวชใหม่ที่ค่อยๆย่างเท้าเดินตามเจ้าสำนักสงฆ์ดอยภูซาง ลงมาจากสำนักสงฆ์เพื่อโปรดสัตว์รับบิณฑบาต จากญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาเพื่อร่วมฉลองพระใหม่
นายไพรสนธ์ ดวงคำ หรือวงการเซียนพระรู้จักในนาม สนเมืองน่าน บอกเล่าให้ฟังว่า การอุปสมบทหมู่ของชาวบ้านครั้งนี้เพื่อร่วมสมโภชน์พระพุทธการุญ พระพุทธรูปองค์ใหม่ หน้าตัก 9.99 เมตร ของชุมชนดอยภูซาง ซึ่งบรรยากาศในวันนั้นอบอวนไปด้วยกลิ่นอายแห่งความปิติ สงบ อบอุ่น ลอยไปไกลลับตา
ไพรสนธ์ ดวงคำ หรือ สน เมืองน่าน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพระชื่อดังและชาวบ้านตำบลกองควายร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์บวชใหม่
ที่สำคัญสรรพสัตว์น้อยใหญ่ทั่วเทือกเขาพงไพรต่างกู่ก้องเปล่งเสียงขานรับบทสวดภาษาบาลี เป็นระยะๆ จนเสร็จสิ้นพิธีสมโภชน์พระพุทธการุญ ยิ่งทำให้ชาวบ้านแห่งชุมชนดอยภูซาง อิ่มเอมไปด้วยบุญบารมี
วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2563 นายสมเพชร ภัทรภิญโญ กำนันตำบลกองควาย และคณะกรรมการสำนักสงฆ์ดอยภูซาง ได้ขอใช้สถานที่ของสำนักสงฆ์ดอยภูซาง ตำบ้านนาฝา ตำบลกองควาย อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เชิญผู้นำหมู่บ้านในตำบลกองควาย และตำบลใกล้เคียงเข้าหารือเพื่อจัดตั้งสมาคมเพื่อต่อยอดการศึกษาให้กับเยาวชนในการพัฒนาการด้านการศึกษาต่างๆ ให้เป็นเลิศอีกด้วย
กำนันสมเพชร ภัทรภิญโญ(ชุดขาว)และผู้นำชาวบ้านตำบลกองควายถ่ายภาพร่วมกันหลังจากหารือการจัดตั้งสมาคม
สน เมืองน่าน ยังให้ความรู้ความเป็นมาของดอยภูซางว่าเป็นแหล่งขุดค้นทางด้านโบราณคดี เครื่องมือหินยุคโบราณ เมืองน่าน อันเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษายิ่ง
พิธีทำขวัญให้แก่ผู้ที่เข้าอุปสมบทหมู่
“ดอยภูซาง” ผืนแผ่นดินน่านเคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อหลายหมื่นปีก่อน ปรากฏหลักฐานเมื่อพบเครื่องมือหินกระเทาะแบบหยาบ ๆ ในสมัยหินเก่าจากบริเวณเสาดิน บ้านน้ำหก ต.เชียงของ อ.นาน้อย และบ้านดู่ใต้ ต.ดู่ใต้ อ.เมือง ซึ่งนักโบราณคดี กำหนดอายุราว 7 พันปี
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีในจังหวัด ระหว่างปี พ.ศ.2527 – 2546 พบหลักฐานการผลิตเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 4,000 ปี ในพื้นที่ต่อเนื่องมากกว่า 10 ตารางกิโลเมตร และพบแหล่งผลิตเครื่องถ้วยชามเคลือบเนื้อแกร่ง สมัยพุทธศตวรรษที่ 18 – 22 ในพื้นที่อีกราว 3 ตารางกิโลเมตรทางตะวันอกกของแม่น้ำน่าน ในเขตอำเภอเมือง ตามแนวเทือกเขาน้อย เขาหินแก้ว เขาชมพู และดอยปู่แก้วที่โอบล้อมแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ของลุ่มแม่น้ำสมุนและลุ่มน้ำซาว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 80 ตารางกิโลเมตร
ดอยภูซาง ดอยแห่งการปฏิบัติธรรมที่ใช้ธรรมชาติเป็นกลไกขับเคลื่อนสู่ความสงบสุขทางจิตใจ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และชีววิถีที่รอคอยนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือน
พรหมพิริยะ จันทร์เพ็ญ รายงาน