ชลประทานเชียงใหม่ ขอความร่วมมือชาวนา ลดการปลูกข้าวนาปรังแล้งนี้ หลังปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ มีปริมาณน้ำน้อย เตือนทุกส่วนร่วมใจรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด ลดเสี่ยง
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆรวมกันประมาณ 296 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ แบ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 117 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 12 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน
ทั้งนี้ ได้กำหนดแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง จากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลประมาณ 105 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นการส่งน้ำให้กับพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำปิง ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัด ประมาณ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกส่วนจะส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานของโครงการแม่แฝก-แม่งัด รวมประมาณ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ขณะนี้มีปริมาณน้ำเก็บกักที่71 ล้านลบ.ม. มีแผนที่จะจัดสรรน้ำในฤดูแล้งนี้ประมาณ 19 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเน้นส่งน้ำเฉพาะการอุปโภค-บริโภค และไม้ผลไม้ยืนต้นเป็นหลัก จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง และพืชฤดูแล้งปี 2562/63 นี้
ด้านนายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่าในส่วนของมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งในปี 2563 ว่า โครงการชลประทานเชียงใหม่ จำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพของตลิ่งแม่น้ำปิง และควบคุมการปิดกั้นทางน้ำที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งการเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลอง และแหล่งน้ำต่างๆ
อีกทั้งการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้เตรียมการป้องกันหากเกิดกรณีระดับน้ำต่ำกว่าระดับที่จะสูบได้ โดยจะให้สำนักงานชลประทานที่ 1 เป็นผู้ควบคุมการเปิด-ปิดประตูปากคลองส่งน้ำในลำน้ำปิงทั้งหมด
นายจรินทร์ฯ กล่าวว่า “นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เน้นย้ำให้ประชาชนช่วยกันบริหารจัดการน้ำ และเลือกพืชที่เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามข้อแนะนำหรือคำแจ้งเตือนของโครงการชลประทานฯในพื้นที่อย่างเคร่งครัด
พร้อมกันนี้ ยังได้มอบหมายให้เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ลงไปตรวจสอบพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องของสถานการณ์น้ำให้กับเกษตรกรทราบอย่างทั่วถึง และวางแนวทางในการใช้น้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป
จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน