ผันงบสู้ภัยแล้ง โควิด-19 ‘เกษตร’อัดงบกว่า 3 พันล้านบาท หนุน 208โครงการชลประทานทั่วไทย จ้างเกษตรกรเป็นแรงงาน

อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์

‘เกษตร’เทงบจ้างงานเกษตรกร 4.1 หมื่นราย ช่วงฤดูแล้ง กว่า 3 พันล้านบาท ใน 208 โครงการชลประทานทั่วไทย กระตุ้นเศรษฐกิจชะลอตัว รองรับผลกระทบจากภัยแล้ง-ไวรัสโควิด-19 พร้อม เตรียมสร้างแบบจำลองหากสถานการณ์ยืดเยื้อ ต้องสต็อกข้าว 10 ล้านตัน บริโภคในประเทศห้ามขาดแคลน

18 มี.ค.63/ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งยังต่อเนื่องจากปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน และต้นปีนี้ได้มีสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวมากขึ้น โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯและ รมช.เกษตรฯได้ร่วมกัน วางแผนรองรับผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯและ กรมชลประทาน เดินหน้ามาตรการจ้างงานเกษตร วงเงิน 3.1 พันล้านบาท เพื่อช่วยกระตุ้นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เป็นการจ้างงานในโครงการชลประทาน ซ่อมแซมบำรุงรักษา ขุดลอกคูคลอง ก่อสร้างแหล่งน้ำระบบส่งน้ำในชุมชน แก้มลิง

สำหรับเป็นการจ้างงานทั่วประเทศครอบคลุมจ้างแรงงาน 4.1 หมื่นคน ทำให้เกษตรกร มีรายได้ 2.4-5 หมื่นบาทต่อคน ค่าจ้างวันละ 377 บาท หรือประมาณ 8 พันบาทต่อคน ระยะเวลาการจ้าง 3-7 เดือน ซึ่งรองรับผลกระทบทั้งสองด้านยังคงมีเหตุการณ์ต่อเนื่องอีกหลายเดือน

กรมชลประทาน จะประกาศรับสมัครการจ้างแรงงานเกษตรกรทั่วประเทศในเขตพื้นที่โครงการชลประทาน ทุกโครงการรวม208โครงการ ซึ่งเกษตรกรเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วในพื้นที่และไม่ได้ทำนาปรังในฤดูแล้งนี้

ทั้งนี้ภายใต้แผนปฏิบัติการรับมือภัยแล้ง ยังเหลืออีก 44วัน จะสิ้นสุดแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ซึ่งเหลือน้ำอีก29% ส่วนลุ่มเจ้าพระยา เหลือน้ำ 24% มั่นใจว่าน้ำกินใช้ รักษาระบบนิเวศ เพาะปลูกพืชฤดูแล้งใช้น้ำน้อย มีเพียงพอและ สำรองน้ำ ไว้อีก3เดือน ถึงเดือน ก.ค.หากเกิดกรณีฝนทิ้งช่วง

อย่างไรก็ตามในส่วนการส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อย และเลี้ยงปศุสัตว์ ในช่วงฤดูแล้ง ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) อนุมัติวงเงิน5หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ให้เกษตรกร คิดดอกต่ำ 100บาท ต่อวงเงินกู้ 1 ล้านบาท เพื่อนำมาประกอบอาชีพบรรเทาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ทั้งนี้ในวิกฤติยังมีโอกาส ซึ่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ผลิตอาหารเลี้ยงโลก ปีที่แล้วส่งออกภาคเกษตร กว่า 1 ล้านๆบาท ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม ปศุสัตว์ ประมง สินค้าแปรรูป ผลไม้ พืชผักสด

อย่างไรก็ตาม ผลการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 ไปกว่า 100 ประเทศ เกิดภาวะขาดแคลน ซื้อของกักตุน ทำให้มีคำสั่งซื้อทะลักมาประเทศไทยจำนวนมาก จึงทำแผนสำรองสินค้าเกษตรไว้ด้วย

“ได้สร้างแบบจำลองสถานการณ์โรคระบาดไวรัส 6-12 เดือน กรณีส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก จะต้องมีสต็อกในประเทศด้วย ไม่ให้ขาดแคลน เช่น ข้าว ที่ในประเทศใช้ 10 ล้านตัน จะขาดแคลนไม่ได้ ขณะเดียวกันมีออเดอร์ มันสำปะหลัง จากจีน จำนวนมาก เพื่อไปผลิตแอลกอฮอล์ เป็นโอกาสในวิกฤติ จะต้องกำหนดมาตรการผลิตภาคเกษตรทั้งระบบ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ นี่คือโอกาสของไทยเพราะประเทศแหล่งผลิตใหญ่ กำลังเดือดร้อนหนักเช่น จีน อิตาลี สหรัฐฯ”

“สิ่งสำคัญเราต้องสร้างความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุข อย่าตื่นตระหนก จะเกิดปัญหาการจัดการ จะปิดเมือง โดยไร้สาเหตุไม่ได้ ขณะนี้การดูแลในประเทศรัฐบาลสามารถดูแลได้ พร้อมกับ ดูแลเกษตรกร อย่างดีที่สุด”นายอลงกรณ์ กล่าว

ที่ปรึกษา​ รมว.เกษตรกล่าวว่าสำหรับสถานการณ์น้ำ ในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณ 39,898 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 52 ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้15,972 ล้านลบ.ม.ในส่วนสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,581 ล้านลบ.ม. ร้อยละ 39 ของความจุอ่าง มีน้ำใช้การได้ 2,885 ล้านลบ.ม.

ส่วนผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562 มีการใช้น้ำไปแล้ว 12,790 ล้านลบ.ม.หรือร้อยละ 72 ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำแล้ว 3,457 ล้านลบ.ม.หรือร้อยละ77 ของแผน

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน