กรมชลประทานขับเคลื่อนสร้างสถานีสูบน้ำตาปี-พุมดวง ขยายพื้นที่ชลประทานได้อีกกว่า 73,980 ไร่

กรมชลประทานขับเคลื่อนสร้างสถานีสูบน้ำตาปี-พุมดวง ขยายพื้นที่ชลประทานได้อีกกว่า 73,980 ไร่
นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าในส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำตาปี-พุมดวง ระยะที่ 1 กรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง โดยเดินหน้าก่อสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมระบบส่งนน้ำคาดว่าแล้วเสร็จในปี 2564 และจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขยายพื้นที่ชลประทานได้กว่า 73,980 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ถึง 11,750 ครัวเรือน

ทั้งนี้ภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะประกอบไปด้วยงานก่อสร้างอาคารทดน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า บริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน ห่างจากเขื่อนรัชชประภาหรือเขื่อนเชี่ยวหลานประมาณ 60 กิโลเมตร โดยจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 16 เครื่อง สูบน้ำได้รวม 34 ลบ.ม./วินาที สามารถสูบน้ำจากแม่น้ำพุมดวงขึ้นมาบริหารจัดการได้ปริมาณ 123 ล้าน ลบ.ม./ปี

นอกจากนี้ ยังมีงานก่อสร้างระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำและอาคารประกอบ ซึ่งในส่วนของงานก่อสร้างระบบส่งน้ำ จะประกอบไปด้วยคลองส่งน้ำสายใหญ่ 2 สาย ความยาวรวม 37.488 กิโลเมตร และคลองซอยอีก 24 สาย ความยาวรวม 81.413 กิโลเมตร พร้อมอาคารประกอบตามแนวคลองส่งน้ำอีก 745 แห่ง สำหรับใช้กระจายน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรในพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำพุมดวง ช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้ 73,980 ไร่ และในฤดูแล้งอีกประมาณ 57,819 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ 11,750 ครัวเรือน มากกว่า 46,000 คน ในเขตอำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอพุนพิน และอำเภอท่าฉาง ช่วยสร้างหลักประกันความมั่นคงในเรื่องน้ำได้อย่างยั่งยืน

ขณะที่นายธเนศ ดิษฐปัญญา ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของงานก่อสร้างระบบระบายน้ำว่า จะทำการขุดลอกลำน้ำเดิมตามธรรมชาติ ความยาวรวม 83.303 กิโลเมตร พร้อมอาคารประกอบอีก 89 แห่ง เพื่อระบายน้ำส่วนเกินที่เกิดจากฝนตกลงสู่ลำน้ำธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังจะก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูง 33 KV จำนวน 3 เส้น ระยะทาง ประมาณ 17 กิโลเมตร เพื่อใช้ในการสูบน้ำเฉลี่ยต่อปี 10.14 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง

การก่อสร้างสถานีสูบน้ำตาปี-พุมดวง ระยะที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำน้ำในลุ่มน้ำคลองพุมดวงมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้น้ำที่ระบายจากเขื่อนรัชชประภาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าปีละประมาณ 2,000 – 3,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำพุมดวง และไหลออกสู่ทะเลตามลำดับ การนำน้ำดังกล่าวมาบริหารจัดการโดยสถานสูบน้ำตาปี-พุมดวง

นอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานแล้ว ยังเพิ่มทางเลือกแก่เกษตรกรบริเวณที่ราบลุ่มฝั่งซ้ายของแม่น้ำพุมดวง ให้ปลูกพืชได้หลากหลายมากขึ้น อาทิ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ปาล์มน้ำมัน และพืชผักสวนครัว

จากที่อดีตเคยเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ เนื่องจากผืนดินขาดความชุ่มชื้นเพราะฤดูแล้งที่กินเวลายาวนาน ปัจจุบันมีความคืบหน้าของการดำเนินโครงการในระยะที่ 1 รวมทั้งโครงการประมาณร้อยละ 59 คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2564

“ผลการศึกษาของศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่าการให้น้ำแก่ปาล์มน้ำมันในอัตราส่วนที่เหมาะสมจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 80,000 บาทต่อการปลูก 20 ไร่ นอกจากนี้ในอนาคตยังมีแผนที่จะขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นเป็น 116,360 ไร่ โดยการก่อสร้างระบบส่งน้ำเพิ่มเติมในระยะต่อไป ช่วยลดอัตราความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำได้อย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 กล่าวในที่สุด

สำหรับลุ่มน้ำตาปี-พุมดวงมีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมทั้งสิ้น 12,630 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7.9 ล้านไร่ มีแม่น้ำสายหลัก 2 สายคือ คลองตาปี ยาว 232 กม. และคลองพุมดวงยาว 120 กม. ทั้งสองลุ่มน้ำครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี บางส่วนของนครศรีธรรมราช และกระบี่ ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขานครศรีธรรมราช ทางด้านทิศใต้และทิวเขาภูเก็ต ทางด้านทิศตะวันตกของลุ่มน้ำ

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน