‘เกษตรบุรีรัมย์’ตามรอยพ่อ ตั้งฐานผลิตนมเพื่อเกษตรกร

วิทยา พลศรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์

‘เกษตรบุรีรัมย์’โชว์ความพร้อมโรงงานผลิตนม มุ่งมั่นเดินตามรอยพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 เทความรู้สู่นักศึกษา หวังเป็นฐานศูนย์เรียนรู้แก่เกษตรกร

นายวิทยา พลศรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า โรงงานแปรรูปนมของวิทยาลัย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2532 โดยในระยะเริ่มต้นมีกำลังการผลิต 200 ลิตร ต่อชั่วโมง ต่อมาได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ลิตร ต่อชั่วโมง โรงงานแปรรูปนม เริ่มแรกจัดตั้งขึ้นเพื่อรับน้ำนมดิบในโครงการน้ำพระทัยจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นโครงการอีสานเขียว เพราะในสมัยนั้น จังหวัดบุรีรัมย์ได้รับการส่งเสริมให้เลี้ยงโคนม พอเลี้ยงแล้ว ไม่มีที่จำหน่ายน้ำนมดิบ จึงได้จัดตั้งให้เป็นโรงงานแปรรูปนม เพื่อรับน้ำนมดิบจากเกษตรกรมาจำหน่าย ต่อมา ปี 2535 เกิดโครงการนมโรงเรียนของรัฐบาล จึงเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ผู้อำนวยการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงงานแปรรูปนม ยังจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ รวมทั้งเป็นสถานที่ฝึกอบรมวิชาชีพของนักศึกษาจากสถาบันอื่นด้วย และเป็นสถานที่ในการอบรมและศึกษาดูงานของนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ บุคคลภายนอกที่สนใจ และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม รวมทั้งเป็นแหล่งรองรับน้ำนมดิบของเกษตรกร เพื่อผลิตนมพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรส์ที่มีคุณภาพมาตรฐานปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค เพื่อนำรายได้มาพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในวิทยาลัยฯ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ประชาชนท้องถิ่นมีรายได้

ที่สำคัญยังเป็นแหล่งปฏิบัติงานของนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการหารายได้ระหว่างเรียน และช่วงปิดภาคเรียน ทั้งนี้ กระบวนการแปรรูปน้ำนมดิบ มีขั้นตอนการปฏิบัติตั้งแต่การรับน้ำนมดิบจนถึงการขนส่งนมพาสเจอร์ไรส์ไปยังผู้บริโภค โดยเริ่มตั้งแต่ การจัดซื้อน้ำนมดิบ การตรวจสอบคุณภาพน้ำนมดิบก่อนนำมาแปรรูป กระบวนการปรุงผสมนมพาสเจอร์ไรส์ การฆ่าเชื้อโรคในน้ำนม การบรรจุน้ำนมพาสเจอร์ไรส์ การเก็บเข้าห้องเย็นเพื่อรอจำหน่าย การตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ก่อนการจำหน่าย การขนส่งไปยังลูกค้า

นอกจากนี้ยังมีโรงเรือน และแปลงปลูกพืช อัจฉริยะ โดยแผนกวิชาช่างกลเกษตร มีขนาดพื้นที่ทั้งหมด 72 ตารางเมตร กว้าง 9.50 เมตร ยาว 19.5 เมตร และพื้นที่ภายนอกโรงเรือน 113 ตารางเมตร สามารถปลูกพืชผัก และไม้ดอก ภายในโรงเรือน มีระบบควบคุมการทำงานโดยการให้น้ำ ใช้ได้ทั้งระบบ Manual และระบบ Automatic สั่งการ ปิด-เปิด โดยใช้ประตูน้ำไฟฟ้า ควบคุมโดยการตั้งเวลา และสามารถสั่งการทางโทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ และการลดความร้อนโรงเรือน ใช้ระบบ Sensor อุณหภูมิ สั่งการให้เปิดระบบพ่นหมอก ส่วนการให้ปุ๋ย ใช้อุปกรณ์ดูดปุ๋ย จ่ายเข้าระบบให้น้ำ

อย่างไรก็ตาม ภายในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ ยังมีกิจกรรมหอพักหมู่บ้าน อกท.ชาย ซึ่งปัจจุบัน มีครูพี่เลี้ยง 4 คน นักเรียนที่พั กอาศัยระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 1–3 จำนวน 90 คน มีห้องพัก 33 ห้อง เฉลี่ยพักห้องละ 3-4 คน และพื้นที่ในการทำโครงการเกษตรประมาณ 2 ไร่

ทั้งนี้ กิจกรรมหลักของหมู่บ้าน อกท.ชาย คือ พัฒนาความสะอาดวิทยาลัยฯ กิจกรรมสวดมนต์ทุกวันพระ กิจกรรมออกกำลังกายและเล่นกีฬาสีตอนเช้าทุกวันพุธ กิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนหารายได้ระหว่างเรียน โดยโครงการเกษตรปลูกพืช ผัก ในส่วนรวมของหอพัก มีรายได้จากการทำโครงการ และเฉลี่ยคืนสมาชิกเมื่อสิ้นปีโดยจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์พี่น้องในวันปีใหม่ งานเลี้ยงสังสรรค์และมอบของรางวัลและรายได้ที่เหลือบางส่วนมอบเป็นทุนทำโครงการเกษตรแก่รุ่นน้องในปีถัดไป และโครงการสวัสดิการร้านค้าโดยสมาชิกในหอพักลงหุ้นๆ ละ 10 บาท ไม่เกิน 100 หุ้น ต่อคนและปันผลเฉลี่ยคืนเมื่อสิ้นปีการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 50

ส่วนโครงการธนาคารขยะโดยสมาชิกในหอพักที่รวมขยะที่แยกมาขายโดยได้เปอร์เซ็นต์ จากการขายแบ่งเป็น 60:40 ผู้ขายจะได้ร้อยละ 60 เข้าส่วนกลาง

ปรัชญา รัศมีธรรมกุล รายงาน