กมธ.ศาสนาศิลปะและวัฒนธรรมลุยโคราช

คณะกมธ.ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เปิดห้องสัมมนา หัวข้อ “การเสริมสร้างวัฒนธรรมเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

 14 พ.ย.63 / ณ อาคารอเนกประสงค์โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมะเกลือเก่า ตำบลมะเกลือเก่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ประธานที่ปรึกษากรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม , ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ,

พร้อมด้วย รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรม , นายสัมพันธ์ เสริมชีพ อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ , นายกิตติพงษ์ พงศ์สุรเวท อดีตอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ , ดร.ณพลเดช มณีลังกา อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ พร้อมทั้งคณะวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ฯลฯ เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2563 เวลา 09.00 น.

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ประธานที่ปรึกษากรรมาธิการการศาสนาฯ เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ที่อำเภอสูงเนินจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การสร้างวัฒนธรรมเพื่อความเข้มแข็งในชุมชน” โดยมีคณะวิทยากรจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นกรรมาธิการในได้มาร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมของประเทศนี้เปลี่ยนไปหลายอย่าง วัตถุประสงค์ของวันนี้คือ 1.รักษาวัฒนธรรมเดิม 2.วัฒนธรรมใหม่ที่คนไทยควรต้องเรียนรู้ไปพร้อมเพรียงกัน ขณะเดียวกันทางคณะยังได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบภัยจากเหตุอุทกภัยที่อำเภอสูงเนิน ในเขตพื้นที่เทศบาล และได้มีการเยียวยาพี่น้องประชาชนประมาณ 300 ราย ซึ่งหลังจากนั้นได้รับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชนถึงสาเหตุของภัยพิบัติรวมถึงปัญหาต่าง ๆ ซึ่งทางคณะจะนำปัญหาเหล่านี้เข้าไป กระบวนการแก้ไขในสภาผู้แทนราษฎร ต่อไป

ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนาฯ กล่าวว่า มีการสัมมนาเรื่อง “การเสริมสร้างวัฒนธรรมเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” เพื่อเป็นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชุมชน วัฒนธรรมพื้นบ้าน ตลอดจน วัฒนธรรมร่วมสมัยให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงาม รวมทั้งให้เกิดการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยที่สอดรับกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถหยั่งรากลึกลงไปในระดับชุมชน สังคมและครอบครัวต่อไป นอกจากนี้ได้แบ่งกลุ่มอภิปรายกลุ่มย่อย จำนวน 6 กลุ่ม เพื่อปฏิบัติการ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 วัฒนธรรมสร้างชาติ

กลุ่มที่ 2 โอกาสที่หลากหลายทางวัฒนธรรม

กลุ่มที่ 3 ผู้นำท้องถิ่นกับบทบาททางวัฒนธรรม

กลุ่มที่ 4 การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง

กลุ่มที่ 5 ประชาชนกับการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม

กลุ่มที่ 6 การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

ด้าน รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวว่า นี้ถือว่าเป็นโชคดีที่พี่น้องชาว อ.สูงเนิน ได้มีโอกาสมาร่วมสัมมนากับคณะกรรมาธิการการศาสนาศิลปวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ขอเรียนว่าคุณประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นประธานที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ ท่านถือว่าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนผู้อาวุโสที่มีคุณภาพ เป็นทั้งนักทำงานและนักการบริหาร เป็นผู้ใหญ่ที่คอยชี้แนะกระบวนการทำงานในการบริหารเป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน การเดินทางมาครั้งนี้ของคุณประเสริฐ จันทรรวงทอง ยังได้รับมอบหมายจากทางพรรคเพื่อไทยให้เป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร นอกเหนือจากภารกิจในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ภารกิจสำคัญก็คือการเยี่ยมเยือนพี่น้องในพื้นที่ ท่านได้ผนวกผสมผสานในหลากหลายตำแหน่งหน้าที่เพื่อทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะการเป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ท่านก็ได้นำความรู้ในจารีตประเพณีวัฒนธรรม นำมาสัมมนา “การเสริมสร้างวัฒนธรรมเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” การทำหน้าที่ของกรรมาธิการนอกจากจะมาให้ความรู้มาแลกเปลี่ยน มารับเรื่องราวร้องทุกข์ มาตั้งข้อสังเกต การหาข้อมูลเหล่านี้เป็นหน้าที่ เป็นบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาทำหน้าที่ของกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ อันเป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย

ส่วนด้าน ดร.ณพลเดช มณีลังกา อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ และ ที่ปรึกษากรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวว่า ในแง่มุมการสัมมนา “การเสริมสร้างวัฒนธรรมเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” จะเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนักเรียนนักศึกษา เด็กเยาวชน ใช้เวลาในการเรียนการศึกษา โดยส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียน รวมถึงมีการแข่งขันกันอย่างมากเพื่อให้สามารถเข้าสู่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ทำให้เด็กนักเรียนนอกจากจะต้องเรียนในภาควิชาการในโรงเรียน ยังต้องเรียนพิเศษที่มีสถาบันติวเตอร์ต่างๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ ส่งผลให้เวลาส่วนใหญ่ ห่างจากการให้ความรู้ทางด้านวัฒนธรรมจากผู้ปกครอง ที่เป็นภูมิปัญญาในอดีต

ทั้งนี้ จากงานวิจัยจะเห็นได้ชัดถึงการเข้าถึงวัฒนธรรมซึ่งส่งผลถึงจารีตประเพณีที่ดีงามของไทย ในกลุ่มเยาวชนปัจจุบันกับเยาวชนในอดีต ซึ่งมีความแตกต่างและระยะห่างกันมากขึ้น อนึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองบางส่วนก็ไม่มีเวลา ที่สำคัญยังขาดความรู้ความเข้าใจและการตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมที่ดีงามท้องถิ่นที่ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จึงเป็นแนวทางที่จะปลูกฝังความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ปกครองโดยตรง ซึ่งจริงๆ แล้วผู้ปกครองมีความรู้ที่ดีในวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ช่วยนำออกมาให้ความรู้ความเข้าใจกับเยาวชนรุ่นใหม่ จะยังให้ประเทศชาติสืบต่อประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงามต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน