ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ระยองสางปัญหา น้ำท่วมขัง-พิพาทที่ดินสระน้ำสาธารณประโยชน์-ดัดแปลงอาคารเป็นที่เลี้ยงนกนางแอ่น

วันที่ 27 สิงหาคม 2563 นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่จังหวัดระยอง ประชุมร่วมกับว่าที่ร้อยตรี พิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายกมลธรรม วาสบุญมา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไข 3 ปัญหา กรณีน้ำท่วมขังทางสัญจรชุมชนตำบลเชิงเนินเดือดร้อน ข้อพิพาทที่ดินบริเวณสระน้ำสาธารณประโยชน์บ้านน้ำโจน และการดัดแปลงอาคารพาณิชย์บริเวณตลาดภิบาลพัฒนาเพื่อใช้เลี้ยงนกนางแอ่นกระทบชุมชนใกล้เคียง

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียน 3 กรณี ที่มีผลกระทบในวงกว้าง กรณีแรก คือ การร้องเรียนเรื่องน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง ซึ่งส่งผลให้น้ำท่วมขังเส้นทางจราจร กระทบความปลอดภัยในการสัญจรไปมา ซึ่งวันนี้ในช่วงเช้าได้ประชุมร่วมกับว่าที่ร้อยตรี พิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง แขวงทางหลวงระยอง และอำเภอเมืองระยอง เทศบาลตำบลเชิงเนิน และลงพื้นที่บริเวณปัญหาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าช่วงเวลาที่เกิดปัญหาท่วมขังเป็นช่วงฝนตกหนักติดต่อกันทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ ประกอบกับมีปัญหาการกีดขวางทางน้ำ ซึ่งในระยะเร่งด่วน เทศบาลตำบลเชิงเนินได้ประสานกับแขวงทางหลวงระยองเพื่อเร่งขุดลอกคูริมถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 (ชลบุรี-พัทยา) อีกทั้งจะดำเนินการฝังท่อระบายน้ำในจุดที่เป็นอุปสรรคการไหลของน้ำต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมได้กำชับในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยขอให้จังหวัดระยองวางแผนแม่บทด้านการบริหารจัดการน้ำ แยกเป็น 2 ส่วน คือ แผนบริหารจัดการน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำผ่านในเขตเมืองซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจ และแผนในเขตชุมชนรอบนอกเมือง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลลดผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยในการสัญจรของประชาชนในพื้นที่ต่อไป

ช่วงบ่าย ได้ประชุมหารือร่วมกับ อำเภอแกลง เทศบาลตำบลเมืองแกลง องค์การบริหารส่วนตำบลกองดิน กรมชลประทาน สำนักงานที่ดินจังหวัดระยอง เพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ 2 คือ กรณีข้อพิพาทที่ดินบริเวณสระน้ำสาธารณประโยชน์บ้านน้ำโจน หมู่ที่ 4 ตำบลกองดิน อำเภอแกลง ซึ่งที่ดินดังกล่าวเดิมเป็นของประชาชนที่อุทิศให้ขุดสระน้ำ และรัฐบาลโดยกรมชลประทานได้จัดสรรงบประมาณมาขุดเป็นสระน้ำสาธารณประโยชน์รวมเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ใช้น้ำทำการเกษตรมากว่า 20 ปี แต่ต่อมาทายาทเจ้าของที่ดินเดิมทำการโอนขายเปลี่ยนมือและมีการล้อมรั้วกั้นทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์เช่นเดิมได้ ซึ่งที่ประชุมหารือในประเด็นพิจารณาว่าสระน้ำดังกล่าวที่มีการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์แล้วยังมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติหรือไม่อย่างไร พร้อมกันนี้ได้ลงพื้นที่ ณ สระน้ำสาธารณประโยชน์บ้านน้ำโจน เพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและตรวจสอบสถานที่ปัญหาเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่ายต่อไปด้วย

ส่วนกรณีสุดท้าย ร้องเรียนจากการปล่อยให้มีการต่อเติมดัดแปลงอาคารพาณิชย์บริเวณตลาดภิบาลพัฒนา อำเภอแกลง เพื่อให้นกนางแอ่นเข้ามาทำรังโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่งกระทบชุมชนใกล้เคียงในด้านเสียงและกลิ่นรบกวน โดยเน้นหารือประเด็น 5 หลัก คือ 1.ด้านการก่อสร้างดัดแปลงอาคารและการออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น 2.ด้านผลกระทบสร้างความเดือดร้อนรำคาญเสียง ฝุ่น กลิ่น และโรคที่อาจเกิดจากนกนางแอ่น 3.ด้านการประกอบกิจการกับกฎหมายว่าด้วยผังเมือง 4.การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นว่าได้มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ทั้งการควบคุมสุขลักษณะอาคาร และเหตุรำคาญที่เกิดจากสัตว์ หรือไม่ และ 5.ประเด็นปัญหาทางกฎหมาย เช่น กฎกระทรวงให้ใช้ผังเมืองรวม และยังไม่มีความชัดเจนของการกำหนดประเภทกิจการเพื่อการใช้ประโยชน์จากรังนก รวมถึงการยังไม่มีกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กำหนดลักษณะ แบบ ของอาคารบ้านรังนกที่ถูกต้องสอดคล้องกับมาตรฐานบ้านรังนกไว้โดยเฉพาะ ทำให้ไม่มีการควบคุมเรื่องขนาด ความสูง ระยะร่น ระยะห่าง เป็นต้น โดยผู้ตรวจการแผ่นดินจะเก็บข้อมูลจากปัญหาดังกล่าวในพื้นที่เพื่อประกอบการพิจารณาเพื่อเดินหน้าหาแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงระบบ พร้อมเสนอแนะภาครัฐที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบผู้ประกอบการเลี้ยงนกนางแอ่นอย่างถูกวิธี ไม่กระทบชุมชนในภาพรวมต่อไป

นิตยา ทุมมานนท์ จ.ระยอง/รายงาน