เร่งแก้ปัญหาน้ำเน่าในคูคลอง กทม.

กทม. หารือแนวทางการจัดการคุณภาพน้ำในคลองหลัก มุ่งผลักดันการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในระยะยาว

30 มิ.ย.63/นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือการจัดการคุณภาพน้ำในคลองหลักของกรุงเทพมหานคร โดยมี นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ คณะผู้บริหาร ข้าราชการ​ และเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมโยธา 1 ชั้น 6 อาคารสำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง

กรุงเทพมหานคร มีคลอง จำนวน 1,161 แห่ง และคู ลำราง ลำกระโดง จำนวน 521 แห่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อกัน

สำหรับคลองที่อยู่ในพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 8 แห่ง โดยอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันพบว่าคุณภาพน้ำในคลองมีค่าความสกปรกสูง และมีสาเหตุมาจากปัญหา ดังนี้

1.คลองในกรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อกัน จึงทำให้น้ำเสียที่ไหลลงคลองนอกพื้นที่บริการ ไหลเข้ามาปะปนน้ำในคลองที่อยู่ในพื้นที่บริการ

2.ท่อรวบรวมน้ำเสียส่วนใหญ่ถูกก่อสร้างในคลองสายหลัก ส่งผลให้น้ำเสียที่ไหลลงคลองสาขาเมื่อรวมกับคลองสายหลักแล้ว มีคุณภาพน้ำแย่ลงตามไปด้วย

3.ไม่มีพื้นที่ริมคลองเพียงพอสำหรับก่อสร้างบ่อดักน้ำเสีย

4.มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างภายหลังการก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสีย โดยสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวทำการเจาะท่อน้ำเสียไหลลงสู่คลองต่าง ๆ โดยตรง และ

5.สถานประกอบการส่วนใหญ่ บำบัดน้ำเสียไม่ได้มาตรฐาน ก่อนปล่อยลงคลองสาธารณะ อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาขึ้นมาเป็น 3 ระยะ คือ

5.1.มาตรการระยะสั้น ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึก (Public Awareness) การบังคับใช้กฎหมาย (Command and Control) การขุดลอกคูคลอง การไหลเวียนน้ำภายในคลอง (Flushing)

5.2.มาตรการระยะกลาง ดำเนินการโดยการก่อสร้างเขื่อนพร้อมระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย

5.3.มาตรการระยะยาว ดำเนินการโดยการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อจัดการคุณภาพน้ำในคลองให้มีค่าความสะอาดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายสำนักการระบายน้ำ จัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำท่วม และแนวทางการจัดการคุณภาพน้ำคลองในพื้นที่บริการของโรงควบคุมคุณภาพน้ำกรุงเทพมหานครทั้ง 8 แห่ง ให้มีค่าคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น และมอบหมายสำนักการโยธา กำกับดูแลผู้ประกอบการ และเจ้าของอาคารประเภทต่างๆ ให้ดำเนินการควบคุมตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียภายในอาคารก่อนปล่อยลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ โดยให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (มาตรฐานน้ำทิ้งอาคารประเภทต่างๆ) อย่างเคร่งครัด

อีกทั้งให้ดำเนินการสำรวจรังวัดคลองสาธารณะ ตลอดจนตรวจสอบจำนวนคลอง คู ลำราง ลำกระโดงในกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนต่อไป

จรัญ ชุ่มเงิน รายงาน