ถอดรหัสปตท.กับดีล GPSC บนก้าวย่างการถูกดึงเข้าสู่เกมส์การเมือง การใช้ม.44 กับดีลแสนล้านที่มีอนาคตของรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่เป็นเดิมพัน
สะเทือนวงการพลังงานอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ บอร์ด กกพ. มีมติเอกฉันท์ไม่อนุมัติให้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกใน กลุ่ม ปตท. เข้าซื้อหุ้น บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลต่อการลดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 รวมทั้งการพิจารณาของ กกพ. ยังเป็นการพิจารณาที่ตระหนักถึงการสร้างบรรทัดฐานในการพิจารณาในระยะยาวด้วย
อย่าลืม บอร์ด กกพ.ชุดใหม่ทั้ง 7 คน ถูกตั้งโดยอำนาจพิเศษ ม.44 โดยนายกฯตู่ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2561 ซึ่งถือเป็นงานชิ้นแรกหลังเข้ามารับตำแหน่ง ก็โชว์อิทธฤทธิ์ ล่ม “ดีลระดับแสนล้าน”
โดย บอร์ด กกพ.ชุดนี้ มีนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ เป็นประธานกรรมการ กกพ. และกรรมการอีก 6 คน ประกอบด้วย นายสุธรรม อยู่ในธรรม, นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ, นายพีระพงศ์ อัจฉริยชีวิน, นายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์, นายสหัส ประทักษ์นุกูล เป็นกรรมการ กกพ. เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) และ 7.นางอรรชกา สีบุญเรือง เป็นกรรมการ
หากจำกันได้ก่อนหน้านี้ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านพร้อมทั้งยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ยกเลิกดีลดังกล่าว เพราะบริษัท ปตท. (PTT) ประกอบธุรกิจที่เสี่ยงขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 75 “เอาเปรียบประชาชน” ใช้ความได้เปรียบจากความเป็นรัฐวิสาหกิจแข่งขันโดยตรงกับเอกชนรายย่อย
อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายจับตามองการเคลื่อนไหวของนายกรณ์ คงไม่ได้หวังให้เกิดผลในทางกฎหมายใดๆ แค่หวังผลทางการเมืองในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในอนาคต และมองว่าคงแค่ละครฉากหนึ่ง เพราะ อนุตร จาติกวณิช น้องชายนายกรณ์ นั่งเป็นกรรมการของ GLOW อยู่ด้วย
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บอกว่า ปตท.ให้ความเคารพในการตัดสินใจของ กกพ. ส่วนการตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่ออย่างไรขึ้นอยู่กับทางบอร์ดจีพีเอสซี ว่าจะมีการอุทธรณ์หรือไม่ ปตท.เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเท่านั้น เบื้องต้นการไม่อนุมัติคำขอเพื่อรวมกิจการดังกล่าวอาจมีเงื่อนไขอื่นๆเพิ่มเติมก็ได้ในอนาคต และหากไม่สามารถเข้าซื้อกิจการของโกลว์ได้ก็ไม่กระทบแผนการดำเนินงานด้านธุรกิจไฟฟ้าของ ปตท.หรือในเครือ ปตท. เพราะเป็นธุรกิจในอนาคตโดยเฉพาะพลังงานสะอาด ซึ่งก็ต้องเดินหน้าธุรกิจต่อไป

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี กล่าวว่า จีพีเอสซียอมรับมติดังกล่าว และกำลังศึกษาแนวทางและรายละเอียดการดำเนินการต่อไป และขอยืนยันว่าที่ผ่านมาจีพีเอสซี ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายอย่างครบถ้วนแล้ว
ทั้งนี้ข้อมูลที่ GPSC เตรียมเข้าซื้อหุ้น GLOW จำนวน 69.11% จาก 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท เอ็นจี โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 54.16 % และENGIE GLOBAL DEVELOPMENTS B.V. จำนวน 14.95% ซึ่งคาดว่าการเข้าซื้อกิจการ GLOW จะทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มเพิ่มเป็นราว 5 พันเมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 6.9% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศ
คงต้องติดตามกันต่อไป ดีลแสนล้านจะพังพาบอยู่แค่นี้ หรือมีลุ้นต่อ เพราะ GPSC ยังสามรถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ตามระเบียบได้ ภายใน 30 วัน